เมื่อเวลา 10.50 น. วันที่ 25 ต.ค. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาผลกระทบกรณีการขาดอายุความคดีตากใบและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐและการแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันพิจารณาหาทางออกกับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีสลายการชุมนุมคดีตากใบ ที่จะขาดอายุความในวันนี้เวลาเที่ยงคืน

แต่ทางนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติไม่เห็นด้วย ที่จะนำคดีตากใบมาพิจารณาเป็นญัตติด่วน โดยมี สส.พรรคเพื่อไทย ยกมือรับรอง ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ ในฐานะประธานในที่ประชุม เปิดโอกาสให้มีการอภิปราย เนื่องจากมีความต่างกัน เพื่อให้มีการแสดงความคิดเห็น ก่อนให้มีการลงมติว่าที่ประชุมจะเห็นด้วยให้เลื่อนญัตติคดีตากใบ ขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่

จากนั้น นายรอมฎอน อภิปรายถึงเหตุผลในการเสนอญัตติว่า เหตุการณ์ตากใบมีความรุนแรงที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7,000 คน เป็นปมสำคัญและจุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน ดังนั้นต้องสะสางเรื่องดังกล่าวอย่างมีวุฒิภาวะเพื่อหาข้อยุติ โดยหาทางออกทางการเมือง พร้อมย้ำว่าขณะนี้กระบวนการยุติธรรมถูกท้าทายและอยู่ในภาวะตีบตัน ทำให้เกิดคำถามว่า ประเทศกำลังปกครองด้วยจริยธรรมหรือไม่ และความยุติธรรมจะเกิดขึ้นหรือไม่ ขณะนี้ ได้เริ่มเกิดความรุนแรงและคาดว่าจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตจนกลายเป็นปมใหม่ต่อกระบวนการสันติภาพ เชื่อว่าความไว้วางใจต่ออำนาจรัฐกำลังถดถอย เพราะไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนจริงหรือไม่ และในสภาเป็นหน้าที่ทางการเมือง ที่ทำเรื่องยากและท้าทาย ในฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทย ต้องนำปัญหา ทางการเมืองระหว่างรัฐกับประชาชนที่ไม่ลงรอยกัน โดยมีพื้นที่สภารองรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด โดยเฉพาะการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง เช่นเดียวกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎรเปิดโอกาส ให้สมาชิกได้อภิปรายหาทางออกปัญหาใหญ่

“เรื่องนี้เป็นปัญหาทางการเมือง แต่ไม่ใช่การเมืองระหว่างพรรคการเมือง แต่เป็นการเมืองระหว่างรัฐกับประชาชน และอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ที่เปราะบาง แทนที่จะใช้เสียงระเบิดเสียงปืนมาผูกขาดความจริง ควรจะใช้เวทีนี้ในการหาทางออก” นายรอมฎอน กล่าว

ขณะที่ นายกมลศักดิ์ อภิปรายถึงเหตุผลในการเสนอญัตติว่า สถานการณ์ขณะนี้มีความน่าเป็นห่วง คดีตากใบไม่อยากให้เป็นเรื่องของพรรคประชาชาติเพียงพรรคเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่แสดงความเห็นถึงฝ่ายบริหาร ในฐานะที่เราอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติ ขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อสะท้อนไปสู่การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ปัญหาชายแดนภาคใต้เราพูดกันมานานแล้ว เหตุการณ์ตากใบเป็นเรื่องหนึ่งนำไปสู่เงื่อนไขใหม่ ถ้าหากเราปล่อยโดยที่ไม่ได้ดำเนินการหรือทำให้เรื่องนี้ผ่านไปเลยโดยไม่ใส่ใจ คดีตากใบตอนนี้เราได้บทเรียนอะไรบ้าง ตอนนี้มีการเบี่ยงเบนหลายประเด็นที่ว่าทำไมเพิ่งมาฟ้องตอนนี้ แม้จะได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่คดีอาญายังไม่ระงับ ต้องเข้าใจกว่าประชาชนจะรวบรวมความกล้าออกมาฟ้องร้องรัฐ ก็เหลือเวลาอีกแค่ 1 ปี ก่อนคดีจะหมดอายุความ ขออย่ามองพวกเขาเป็นโจร เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เราจึงติดตามและอยากให้ฝ่ายบริหารเอาจริงเอาจัง ติดตามเอาตัวผู้กระทำความผิดลงโทษให้ได้ใน จำเลย 7 คน กับผู้ต้องหาอีก 7 ราย นี่คือครั้งแรกที่อดีตแม่ทัพ อดีตผู้บัญชาการภาค 9 และผู้บริหารระดับสูงถูกออกหมายจับในกรณีที่ทำให้พี่น้องในพื้นที่เสียชีวิต ดังนั้น อยากให้สภาแห่งนี้ สะท้อนให้ผู้ปฏิบัติงานปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่

นายกมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทราบว่ามีคนที่ยังทำงานอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหมและภายใต้กระทรวงมหาดไทย แต่ผู้บังคับบัญชา ยังไม่สามารถนำตัวมาลงโทษได้ และยังมีเวลา ถึงเที่ยงคืนของวันนี้ที่จะมอบตัว เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ให้ดีขึ้น

“ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ออกมาขอโทษ แต่ขอให้แสดงความจริงใจด้วยการช่วยแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 ว่าด้วยอายุความ แสดงให้เห็นถึงความจริงใจมากขึ้น เพราะคำขอโทษก่อนหน้านี้พี่น้อง 3 จังหวัด ก็เคยได้ยินได้ฟังมา 2 ครั้งแล้ว การแสดงความจริงใจประกอบคำขอโทษช่วยเสนอแก้กฎหมายด้วย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคดีตากใบ รวมถึงคดีการชุมนุมอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ชาวบ้านที่นั่นอย่างน้อยที่สุดมีความรู้สึกว่าลุกขึ้นสู้แม้ไปไม่สุดทาง แต่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย” นายกมลศักดิ์ กล่าว

ด้านนายประยุทธ์ ลุกขึ้นแสดงความเห็นว่า ตนลุกขึ้นมา ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เห็นด้วยในทุกประการที่นายรอมฎอนและนายกมลศักดิ์พูดมา ตนเสียใจกับผู้สูญเสีย ไม่ว่าจะมีการเยียวยาหรือไม่ เรื่องนี้ผ่านมา 20 ปี ก็เป็นมรดกความผิด อีก 50 ปี เรื่องนี้ก็ไม่มีวันลืมได้เลย ตนคิดว่าพี่น้องชาวไทยก็มีความคิดอย่างนั้นเช่นกัน ไม่มีอะไรที่จะเห็นแย้งในการที่จะให้กระบวนการยุติธรรม

นายประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมีความสงสัยเหมือนกันว่าถ้าตนเป็นผู้สูญเสีย จะฟ้องตั้งแต่วันแรก แต่ทำไมมาฟ้องในปีสุดท้าย เหลืออีกไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน ตนเสียดาย และอยากให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี หรืออยากให้มีอะไรดลใจให้ผู้ต้องหามามอบตัวด้วยซ้ำไป ซึ่งถือเป็นความคิดไม่ได้แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในสังคมพูดถึงมาตรา 172 ในการให้รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งมีข้อจำกัดเหมือนกันว่าออกได้ในกรณีใดบ้างการออก พ.ร.ก. มันออกไม่ได้ เฉพาะเจาะจงกรณีใดกรณีหนึ่ง มันก็ไม่ได้เช่นกัน การเรียกร้องให้รัฐบาลออก พ.ร.ก. ตนก็คิดได้ แต่ต้องคิดในใจ คิดออกมาข้างนอกแล้วผิดหมด

“การที่จะเรียกร้องให้ท่านนายกฯ ต้องมารับผิดชอบ ในขณะที่เกิดเหตุ อายุ 10 กว่าปี นายกฯ ยังเป็นเด็กนักเรียนอยู่เลย บ้านเมืองเรามีกระบวนการยุติธรรม มีขั้นมีตอน มีตำรวจ มีอัยการ มีศาล การที่บุคคลละคนจะเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมารับผิดชอบ ท่านประธานเป็นนายกฯ หรือผมเป็นนายกฯ ผมก็คิดไม่ออกว่าผมจะทำอย่างไร การแสดงความเสียใจกับการขอโทษ มันก็เป็นเรื่องสง่างาม” นายประยุทธ์ กล่าว

นายประยุทธ์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ผ่านมา 20 ปีแล้ว จะมาเป็นญัตติด่วนอะไร อย่างเรื่อง 6 ตุลา 19 ตนโดนขังลืม ตนเอาเรื่องนี้เข้าเป็นญัตติด่วนได้หรือไม่ ตนไม่ขัดข้อง หากวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านตกลงกันได้ ตนก็พร้อมถอน พร้อมขอให้วิป 2 ฝ่าย ไปคุยกันให้เรียบร้อยว่าจะอภิปรายกี่คน

จากนั้นนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ที่สลับขึ้นมาทำหน้าที่ประธานการประชุม ชี้แจงว่า เท่าที่เจรจากับพรรคการเมืองส่วนมาก เห็นไปจะทางเดียวกัน ทุกคนเป็นห่วงเป็นใย และเข้าใจดีถึงสถานการณ์ เลยมีการพูดคุยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่รับญัตตินี้ แต่จำกัดคน ก่อนที่ทุกฝ่ายจะตกลงกันได้

นายประยุทธ์ จึงลุกขึ้นกล่าวว่า ถือเป็นการลบรอยเลื่อน และคราบน้ำตา ขออย่าเติมเชื้อไฟเข้ามาในกองไฟ ตนขอร้อง ตนขอถอน ก่อนที่จะมีการเปิดให้ สส. อภิปรายต่อไป.