เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 67 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ภาพและข้อความลงในกลุ่ม “พวกเราคือผู้บริโภค” หลังเจ้าของโพสต์รายนี้ซื้อไอแพด และโดนปลอมลายเซ็นยื่นขอสินเชื่อ งานนี้ทำเอาเจ้าของโพสต์ถึงกับข้องใจพนักงาน แบบนี้ก็ทำได้ด้วยเหรอ?

เจ้าของโพสต์ ระบุข้อความว่า “ขอสรุปให้คร่าวๆ ค่ะ คือตั้งใจจะไปซื้อไอแพดอยู่แล้ว เป็นลูกค้าเก่ามีวงเงินเยอะอยู่ ยังไงก็ได้แน่ๆ สินเชื่อก็ผ่านจริงๆ ได้ไอแพดสมใจ แต่มารู้ทีหลังว่าในสัญญาไม่ใช่ลายเซ็นตัวเอง ถึงจะได้ของสมใจอยาก แต่มันไม่ถูกต้อง ไม่ถูกกฎหมายและเกิดความไม่สบายใจในข้อมูลที่ให้ไป ประมาณนี้ค่ะ ขอเตือนไว้หน่อย เพราะคิดว่าเรื่องนี้ยอมรับไม่ได้ ตอนนี้กังวลกับข้อมูลที่ให้ไปมาก ช่วยวิเคราะห์หน่อยว่าควรทำไงต่อดี”

นอกจากนี้ เจ้าของโพสต์ เล่าอีกว่า “ขอเท้าความก่อนว่า เคยใช้สินเชื่อสินเชื่อนึงผ่อนกับร้านนี้บ่อยมาก ผ่อนหลายครั้งแล้ว รวมกันก็เป็นแสน ถือว่าเป็นลูกค้าเก่าก็ว่าได้ และด้วยความที่อยากได้ไอแพดมาทำงาน ใช้โทรศัพท์ยี่ห้อหนึ่งชื่อดัง ซึ่งตอบไม่ถนัด เลยตัดสินใจซื้อไอแพด แบบผ่อนกับร้านนี้อีกครั้ง และคิดว่าไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะเคยใช้และมีวงเงินอยู่ แต่สินค้าที่เราซื้อครั้งนี้ (ไอแพด) ไม่ได้เข้าร่วมสินเชื่อเดิม แต่สามารถโยกไปสมัครอีกสินเชื่อได้ โดยเอาวงเงินจากสินเชื่อเดิมประกัน สินเชื่อเดิมมีเท่าไหร่ สินเชื่อใหม่ก็ได้เท่านั้น แถมดอกถูกกว่า เลยคิดว่าก็ดี ยังไงก็ผ่าน ยังไงก็ได้ เพราะมีวงเงินเดิมเยอะ”

อีกทั้ง “เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 67 ไปที่ช็อปกับเพื่อน แต่ตอนนั้นไปถึงก็ทุ่มนิดๆ ได้ยื่นสมัครสินเชื่อนี้ในช็อป กรอกข้อมูลในเว็บแล้วส่งไป แต่เข้าใจว่าฝ่ายพิจารณาสินเชื่อใหญ่ น่าจะเลิกทำการแล้ว พนักงานคนนั้นเลยให้มาใหม่พรุ่งนี้ รอว่าพรุ่งนี้ผลพิจารณาจะเป็นยังไง ย้ำว่า วันนี้ไม่ได้มีการเซ็นอะไร แค่คีย์ข้อมูลเฉยๆ”

ต่อมา “วันที่ 20 ต.ค. 67 เข้าไปอีกครั้งตอนประมาณบ่ายสอง คิดว่าสินเชื่อที่ยื่นไปน่าจะผ่านแล้ว เพราะเคยมีวงเงินเดิมอยู่ และวงเงินก็เกินจากราคาไอแพดยังไงก็ได้ แต่พอเข้าไปถึง เหมือนข้อมูลที่ส่งไปไม่ครบถ้วน มีการถ่ายรูปคู่บัตร ถ่ายรูปบัตรคู่แอปชื่อดัง (บัตรไม่ชัด) และเดินเล่นรอบ จนประมาณบ่ายสามสินเชื่อผ่าน และได้ไอแพดสมใจ”

อีกทั้ง “ย้ำอีกว่า วันนี้ก็ไม่ได้เซ็นอะไร ทำไมไม่เอะใจ ตอบเลย เพราะคิดว่าสินเชื่อนี้คงจะเครือเดียวกันแหละ เพราะเอาวงเดิมประกันไม่ต้องยื่นเอกสารสเตตเมนต์ซ้ำซ้อน ไม่ต้องทำสัญญาอะไรวุ่นวาย ใช้ข้อมูลเก่า หลังจากที่ได้ไอแพดแล้ว เช็กเรียบร้อย ได้เข้าไปดูในแอปตัวหนึ่ง เป็นแอปของสินเชื่อที่ติดล็อกไว้ เข้าไปจะมีข้อมูลการยื่นขอสินเชื่อ และขั้นตอนอะไรต่างๆ”

เมื่อกดดูที่ “ใบคำขอสินเชื่อ” ที่เป็นไฟล์ .PDF ถึงกับงง ว่าไปเซ็นตอนไหน
1. ลายมือก็ไม่ใช่ของเรา แต่ลายมือเดียวกับช่องพนักงานขาย
2. แถมชื่อพนักงานขาย กับชื่อที่ลงก็ไม่ตรงกัน
3. แล้วฝ่ายอนุมัติสินเชื่อ ให้ผ่านมาได้ยังไง ไม่ตรวจสอบเลยหรอ เรื่องทั้งหมดคือรู้หลังจากที่ได้ของแล้ว เอาไงดี เหมือนน้ำท่วมปาก แต่มันใช่หรือไม่

นอกจากนี้ “เมื่อสินเชื่อนี้ฮิตนักในหมู่นักศึกษา เพราะดอกเบี้ยต่ำมาก เหมือนมีโปรสำหรับนักศึกษาในไทย ดีสำหรับคนเบี้ยน้อย แต่ไอแพดมีการติดล็อกเครื่องไว้ หากผ่อนหมดถึงจะปลดได้ หากไม่ผ่อนงวดเครื่องก็จะล็อก”

โดยจริงอยู่ที่ว่า “เราได้สินค้าตามที่เราต้องการ แต่การกระทำแบบนี้ค่อนข้างจะยอมรับไม่ได้ ยิ่งมีเรื่องเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วด้วย การทำแบบนี้เป็นการละเมิดกฎหมายหรือไม่ เป็นการละเมิดเราโดยตรง เป็นการทำเอกสารเท็จหรือไม่ สัญญานี่เป็นโมฆะหรือไม่ แล้วข้อมูลที่ถ่ายไปมีการเก็บรักษาดีขนาดไหน แล้วควรทำไงดีกับเคสนี้ หรือให้ปล่อยผ่านเฉยๆเพราะได้ของ”

อัปเดต ครั้งที่ 1
– ได้ร้องเรียนเข้าสำนักงานใหญ่ แล้วผู้จัดการสาขาได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว โทรฯ มาเพื่อให้ไปเปลี่ยนสัญญาแล้วจบ ง่ายๆ แบบนี้เลยอัปเดตครั้งที่ 2
– ยอมยุติแล้วค่ะ เพราะ สัญญาเปลี่ยนไม่ได้ค่ะ ทางบริษัทสินเชื่อยึดตามที่เราถ่ายรูปรับเครื่อง สัญญาก็เท็จอยู่อย่างนั้น และทางร้าน เสนอลดค่าเครื่องจาก 31,900 บาท ให้เราผ่อนจ่ายในยอดแค่ 30,000 บาท ส่วนต่าง 1,900 บาท + ดอกเบี้ย ที่เกิดขึ้นตลอดสัญญา ทางร้านจะให้พนักงานคนนั้นรับผิดชอบค่ะ
อัปเดตครั้งที่ 3
– พอทราบเรื่องก็คุยกันในการรับผิดชอบ ว่าจะเรียกเข้าไป แต่ตอนนี้เงียบ
อัปเดตครั้งที่ 4
– เช้าวันนี้ ทางร้านโทรฯ เข้ามา นัดวันที่ 31 ต.ค. 67 เข้าไปที่สาขา การชดเชยเยียวยา แจ้งว่าจะเป็นตัวเงินสดค่ะ ส่วนสัญญาจะลองประสานงานเพื่อยกเลิกและทำขึ้นใหม่ ยังย้ำคำเดิมนะคะ ยังไม่ได้ต้องการให้พนักงานถูกไล่ออกแต่อย่างใด แค่ตำหนิหรือเอาเป็นบทเรียนพอ ถ้าได้เป็นตัวเงินสดจริงๆ ตั้งใจจะเอาเงินส่วนนี้ โอนเข้าสินเชื่อทั้งหมดทันที เพราะก็กลัวจะหาว่าเราแต่งเรื่องเพื่อเอาเงินเหมือนกัน จะจบลงยังไง เดี๋ยวอัพเดทให้อีกทีค่ะ
อัปเดตครั้งที่ 5
– ล่าสุด และคงสุดท้าย ขอบคุณที่ข่าวแพร่ออกไป จนผู้จัดการเขตของบริษัท ให้คืนเครื่องเดิมและทำสัญญาใหม่ รับเครื่องใหม่ ส่วนเรื่องเยียวยาหรือที่ตกลงก่อนหน้ายังเหมือนเดิม ฟิล์มอะไรที่ติดไปแล้วร้านจะติดกลับใหม่ให้หมด คาดโทษพนักงานสูงสุด คือ ไล่ออก แต่ขอเอาไว้ก่อนว่าอย่าทำ ถ้าทำจะรู้สึกแย่กว่าเดิม ที่ทำให้คนโดนไล่ออก ขอให้ไปตรวจสอบพนักงานขายท่านนี้ก่อน ถ้ามีมากกว่าเคสดิฉันหรือหลายเคสค่อยทำ ส่วนตัวยังคิดว่าเขาคงหวังดีค่ะ เรื่องนี้น่าจะช่วยให้หลายคนตระหนักได้ไม่มากก็น้อย ขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจค่ะ

นอกจากนี้ ผู้โพสต์บอกอีกว่า “ถามว่าสบายใจขึ้นไหม “ก็ไม่ค่ะ” แต่เห็นในการเยียวยา พยายามเยียวยาและเห็นแก่อนาคตของพนักงาน ขอแจ้งและย้ำตรงนี้เลยนะคะ ว่าไม่ได้อยากจะโจมตี หรือเอาผิดพนักงานถึงขั้นดำเนินคดีแบบนั้น แค่อยากให้เป็นบทเรียนและตระหนักถึงเรื่องนี้ให้มาก เพราะมันผิดกฎหมาย แต่ก็ยังขอยืนยันว่าจะไปลงบันทึกไว้ (เฉยๆ) เพื่อเซฟตัวเองในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ต่างมีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมากอีกด้วย..

ขอบคุณข้อมูล : พวกเราคือผู้บริโภค