เมื่อวันที่ 24 ต.ค.นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายจุดเน้น ในการประชุมสื่อสารสร้างความเข้าใจในการพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อจัดกระบวนการจัดการเรียนรู้ส่งผลการคิด วิเคราะห์ด้วยข้อสอบที่ได้มาตรฐาน โดยนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) มาเติมเต็มความรู้ คิดวิเคราะห์ ความฉลาดรู้ให้กับนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม ด้วยรูปแบบออนไลน์ โดยมีวิทยากร ได้แก่ นายชนาธิป ทุ้ยแป ผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา นางสาวณัฐา เพชรธนู รองผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา นายสรุศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยกลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ที่รับผิดขอบงานด้านการวัดและประเมินผลการศึกษา จาก 245 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ผู้อำนวยการและคณะครูจากโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ จำนวน 77 แห่ง เพื่อยกระดับผลการประเมินระดับชาติ และนักวิชาการศึกษา รวมทั้งสิ้น 570 คน
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ด้านการพัฒนาความสามารถด้านการฟัง คิด พูด และ อ่าน คิด เขียน ด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์ โดยสำนักทดสอบทางการศึกษา ได้สื่อสารการนำข้อสอบจากคลังข้อสอบมาตรฐานที่เน้นการประยุกต์ใช้สถานการณ์ในโลกความจริง สู่กระบวนการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน แบบ Formative Assessment ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้ามาใช้ข้อสอบจากคลังข้อสอบมาตรฐาน สทศ. จำนวนนับแสนครั้ง ดังนั้น การเลือกใช้เครื่องมือจากคลังข้อสอบมาตรฐาน สทศ. ซึ่งสามารถประเมินความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ ที่มีความน่าเชื่อถือและได้มาตรฐาน ผ่านกระบวนการพัฒนาคุณภาพเครื่องมือ ด้วยกระบวนการการนำไปทดลองใช้กับนักเรียนกลุ่มตัวอย่างและปรับปรุงข้อสอบ ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาส่งเสริม สนับสนุนการนำข้อสอบจากคลังข้อสอบดังกล่าวไปใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนในระดับชั้นเรียน เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาด และยกระดับสิ่งที่ดีขึ้นมา
.
“สำหรับกลุ่มโรงเรียนเป้าหมายเฉพาะ ทั้ง 77 แห่ง เพื่อยกระดับผลการประเมินระดับชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนเครื่องมือประเมินตามโครงสร้างการทดสอบ O-NET ที่สำนักทดสอบทางการศึกษาจัดไปให้นั้น ก็เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และต้องนำข้อมูลผลการทดสอบ O-NET ไปใช้ประโยชน์ทั้งการวิเคราะห์เพื่อการวางแผนการยกระดับผลการประเมิน เพื่อเตรียมความเข้มแข็งให้กับหนังสือเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551(ปรับปรุง 2560-2566) ตามตัวชี้วัดระหว่างทาง ตัวชี้วัดปลายทาง ต่อยอดสู่การพัฒนาสมรรถนะสำคัญ ทั้งนี้ การสร้างความร่วมมือเพื่อการยกระดับผลการประเมิน O-NET เป็นบทบาทหน้าที่ของทุกฝ่าย ทั้งระดับ สพฐ. สพท. และสถานศึกษา ดังนั้นความสำเร็จของการดำเนินการในครั้งนี้ จะสะท้อนว่า ผลการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาเกิดจากการทำงานอย่างร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จากกระบวนการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคล สู่ผลเชิงประจักษ์เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างผู้ใหญ่ที่มีหลักคิดที่ดี เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว