สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ว่า การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเศรษฐกิจเลบานอนเบื้องต้น โดยสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ระบุว่า ขนาดของการสู้รบ, บริบททางภูมิรัฐศาสตร์, ผลกระทบด้านมนุษยธรรม และผลกระทบทางเศรษฐกิจในปี 2567 จะสูงกว่าเมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นการปะทะครั้งล่าสุด ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์

จีดีพีของเลบานอนหดตัวลงร้อยละ 28 ระหว่างปี 2561-2564 และเงินปอนด์เลบานอนสูญเสียมูลค่าไปมากกว่าร้อยละ 98 ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง และสูญเสียอำนาจซื้ออย่างมีนัยสำคัญ

แม้จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น แต่สถานการณ์ซึ่งดูเหมือนคงที่ ระหว่างปี 2565-2566 และมีการคาดการณ์การเติบโตที่ร้อยละ 3.6 แต่หากการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้ จีดีพีอาจลดลงร้อยละ 9.2

น.ส.เกาธาร์ โดรา นักเศรษฐศาสตร์จากยูเอ็นดีพีประจำเลบานอน ให้เหตุผลว่า บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล และการทำลายล้างต้นทุนทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่โรงงานไปจนถึงถนน โดยความขัดแย้งซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจของเลบานอนที่เปราะบางอยู่แล้วไม่มั่นคงยิ่งขึ้น และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ยาวนาน

มากไปกว่านั้น ความรุนแรงที่หลงเหลือจากการสู้รบ คาดว่าจะคงอยู่ต่อไปอีกหลายปี แม้ความขัดแย้งจะสิ้นสุดลงในปีนี้ แต่หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ คาดว่าจีดีพีจะหดตัวลงร้อยละ 2.28 ในปี 2568 และอีกร้อยละ 2.43 ในปี 2569

ในการประชุมผู้บริจาคระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือเลบานอน ซึ่งฝรั่งเศสเป็นเจ้าาพจัดขึ้นที่กรุงปารีส มีประเด็นสำคัญอันดับแรก คือการตอบรับคำร้องของยูเอ็น ในการระดมเงินช่วยเหลือให้ได้ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 13,468 ล้านบาท) สำหรับชาวเลบานอนที่พลัดถิ่นฐานจากการสู้รบ.

เครดิตภาพ : AFP