เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ห้องแซฟไฟร์ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายในการประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนประกันสังคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวเสวนาหัวข้อ “เพราะกองทุนเป็นของพวกเราทุกคน (SSO Sustainable for All)” ว่า มีเป้ามายจะเพิ่มคนทำงานเข้ามาอยู่ในกองทุนประกันสังคมอีกประมาณ 16 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบ เช่น คนขับแท็กซี่ เกษตรกร และรับงานไปทำที่บ้าน จะทำให้จำนวนคนในกองทุนฯเพิ่มจาก 24 ล้านคนเป็น 40 ล้านคน สำหรับกรณีที่ รพ.เอกชน ร้องเรียนเรื่องอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในที่ช่วงปลายปีจะลดจาก 12,000 บาทต่อหน่วย เหลือ 7,000-8,000 บาทนั้น นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ตนได้หารือกับปลัดกระทรวงแรงงานและเลขาธิการสำนักงานปลัดสังคม (สปส.) มีการเสนอแนวคิดที่จะให้กองทุนฯ นำเงินไปซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเอกชน เป็นแบบเหมาจ่ายให้บริษัทประกันฯ แล้วให้บริษัทเป็นผู้รับผิดชอบการดูแลรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน ซึ่งจะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมเพื่อให้สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ 

“การดำเนินการเช่นนี้ จะทำให้ประกันสังคมมีอัตรการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นแบบ Fix Cost ช่วยให้การบริหารง่ายขึ้น เพราะจะสามารถคำนวณต้นทุนได้ว่าแต่ละปีจะต้องจ่ายเท่าไหร่” นายพิพัฒน์ กล่าว  

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า เรื่องการลงทุนของเงินกองทุนประกันสังคม ในปี 2566 มีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 2.7-2.8% แต่ตั้งเป้าในปี 2568 อัตราผลตอบแทนจะต้องขยับเป็น 5% หากทำได้ก็จะขยายอายุกองทุนประกันสังคมออกไปได้อีกประมาณ 10 ปี โดยวิธีการ คือ จากที่ พ.ร.บ.ประกันสังคม กำหนดการลงทุนในสินทรัพย์ไม่เสี่ยง 60% และเสี่ยงน้อยหรือมีโอกาสเสี่ยง 40% ภายใต้เงื่อนไขต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่เรตติ้งดีเท่านั้น แต่ปัจจุบันการลงทุนยังเป็นสัดส่วน 70% ต่อ 30% ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ที่มีคนรุ่นใหม่มีการเสนอให้พิจารณาสินทรัพย์เสี่ยงควรไปลงทุนในต่างประเทศที่ให้ดอกผลดี เช่น ตราสารทุน เข้าไปซื้อกองทุนต่างๆ ในต่างประเทศ เป็นต้น 

นอกจากนี้ จะมีมาตรการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การปรับเพิ่มอายุเกษียณขั้นต่ำจาก 55 ปีเป็น 65 ปี, ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ นายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละ 2% รัฐบาล 2.25% รวม 3 ฝ่าย 6.25% และกำลังหารือในการนำอาชีพที่กฎหมายปัจจุบันยกเว้นในกลุ่มคนต่างด้าวให้เข้ามาสู่ระบบประกันสังคมด้วย เช่น ลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ เลี้ยงสัตว์ ลูกจ้างทำงานที่บ้าน และลูกจ้างกิจการหาบเร่ แผงลอย เนื่องจากแรงงานต่างด้างที่ขึ้นทะเบียนปัจจุบันมีราว 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ส่งเงินสมทบมาตรา 33 เพียง 1.5 ล้านคน อีกถึง 1.5 ล้านคนไม่ได้ส่งเงินสมทบประกันสังคม โดยเรื่องนี้สามารถแก้ไขกฎกระทรวง จึงดำเนินการได้เลย 

“กระทรวงจะมีการประกาศให้บุคคลต่างด้าวที่อยู่ในไทยมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง และประสานกระทรวงมหาดไทยในการออกบัตรสีชมพูให้กับกลุ่มที่เข้ามาทำงานในอาชีพที่เป็นข้อยกเว้นเดิมในการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม เป็นการนำกลุ่มใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินแล้วให้จ่ายเงินสมทุบเข้าประกันสังคม เมื่อเจ็บป่วยก็จะมีประกันสังคมเข้าไปดูแลค่ารักษาพยาบาล จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่ต้องแบกภาระค่ารักษาต่างด้าวที่เรียกเก็บไม่ได้อยู่ราว 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี” นายพิพัฒน์ กล่าว  

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ประกันสังคมให้สิทธิคุ้มครองเต็มที่ อย่างเช่น โรคมะเร็งซึ่งเป็น 1 ใน 5 โรค ที่เมื่อมีการตรวจวินิจฉัยเจอ จะต้องได้รับการรักษาหรือผ่าตัดภายใน 15 วัน สามารถเข้า รพ. เพื่อรอการผ่าตัดได้เลย โดยมี รพ.คู่สัญญาประกันสังคมเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั่วประเทศราว 2,000 แห่ง รวมถึงสิทธิในการตรวจสุขภาพ ป้องกันโรคได้ล่วงหน้า หรือเข้ารับการรักษาได้ก่อนการลุกลามที่จะรักษายากขึ้น หรือหากไปรับบริการที่รพ.ตามสิทธิแล้วเห็นว่าได้รับบริการไม่ดี สามารถแจ้งมายังสำนักงานประกันสังคมจังหวัด เพื่อประสานขอเปลี่ยน รพ. ได้ แต่จะพิจารณาเป็นรายกรณี ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคนจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 33, มาตรา 39 แล้วได้สิทธิรักษาพยาบาลไม่ดีเท่าบัตรทอง 30 บาทนั้นไม่จริง ประกันสังคมพร้อมให้บริการอย่างดีที่สุด เพราะสมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของกองทุนประกันสังคม โดยผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 เป็นเจ้าของ ดังนั้น ประกันสังคมต้องให้การดูแลเจ้าของอย่างดี.