นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เดือน พ.ย. เตรียมปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 67 อีกครั้งคาดว่า ปรับเพิ่มอีก หลายหมื่นคัน เกือบ 1 แสนคัน จากปัจจุบันตั้งเป้าอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน แบ่งเป็นยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 550,000 คัน ยอดผลิตเพื่อการส่งออก 1.15 ล้านคัน เนื่องจากยอดผลิต ยอดขายภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกรถยนต์ลดลงทั้งหมด โดยเดือน ก.ย. มียอดผลิตอยู่ที่ 122,277 คัน ลดลงถึง 25.48% ส่งผลให้ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 67) ผลิตรวมทั้งสิ้น 1.128 ล้านคัน ลดลง 18.61% ทั้งในส่วนรถยนต์นั่ง รถโดยสาร รถบรรทุก รถกระบะ

ทั้งนี้การผลิตเพื่อส่งออกเดือน ก.ย. 67 ผลิตได้ 87,666 คัน ลดลง 15.78% ทำให้ 9 เดือน ผลิตเพื่อส่งออกได้ 774,175 คัน ลดลง 4.42% และการผลิตเพื่อขายในประเทศอยู่ที่ 34,611 คัน ลดลงถึง 42.31% ส่งผลให้ 9 เดือน ผลิตได้แค่ 353,851 คัน ลดลง 38.57% ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศมี 39,048 คัน ต่ำสุดรอบ 53 เดือน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนของไทยสูง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ถูกปฏิเสธสูงถึง 50-60% และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังโตระดับต่ำ ขณะที่ผลิตเพื่อส่งออก ยอดขายลดลงจากผลกระทบความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่ยังยืดเยื้อ และเริ่มขยายวงกว้างขึ้น ทำให้หลายประเทศเริ่มระมัดระวังการใช้จ่าย

“ยอมรับว่า สถานการณ์รถยนต์บ้านเรา น่าเป็นห่วงมากๆ ที่ผ่านมาเราปรับเป้าผลิตลดลงไปแล้วครั้งหนึ่ง ปรับเฉพาะยอดผลิตในประเทศจาก 750,000 คัน เป็น 550,000 คัน ลดลงมาแล้ว 200,000 คัน  ยังยืนเป้าผลิตเพื่อส่งออกที่ 1.15 ล้านคัน แต่ดูจากสถานการณ์ล่าสุด ต้องปรับลดลงทั้ง 2 ขา ทั้งในประเทศ ที่ยังได้รับผลกระทบจากถูกสถาบันการเงินปฏิเสธ และยังไม่มีวี่แววสถานการณ์จะดีขึ้น ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้า ก็ยังลดลงจากการถูกปฎิเสธจากลูกค้า เพราะยังลังเลเรื่องราคา คิดว่าจะลดลงอีกหรือไม่ ส่วนยอดต่างประเทศ กลับได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งตะวันออกกลางอีก สิ้นเดือนนี้จะดูตัวเลขกันอีกครั้ง และประกาศเป้าใหม่เดือนหน้า ขณะที่สถานการณ์ปีหน้า ดูแล้วยังไม่ดีนัก ตอนนี้ต้องหวังตัวเลขการลงทุนบีโอไอล่าสุดที่มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุดในรอบ 10 ปี รอดูว่า จะมีนักลงทุนมาขอรับใบส่งเสริมลงทุนจริงเท่าไร ถ้าลงทุนเยอะก็จะเกิดการจ้างงานเพิ่ม คนก็มีเงินเพิ่มขึ้น”       

ส่วนยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดง ประเภทรถไฟฟ้า 100% หรือบีอีวี มียอดจดทะเบียนใหม่มีจำนวน 6,606 คัน ลดลง 25.81%  โดยยอดจดทะเบียนสะสมประเภทบีอีวีล่าสุด มีจำนวน 206,631 คัน เพิ่มขึ้น 107.18% ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง 141,039 คัน เพิ่มขึ้น 122.63% รถยนต์โดยสารไม่เกิน 7 คน 2,146 คัน เพิ่มขึ้น 504.57% รถยนต์บริการธุรกิจมี 76 คัน เพิ่มขึ้น 216.67% รถยนต์บริการทัศนาจร 136 คัน เพิ่มขึ้น 280% รถโดยสารมีจำนวนทั้งสิ้น 2,698 คัน เพิ่มขึ้น 14.47%รถบรรทุกมีจำนวนทั้งสิ้น 664 คัน เพิ่มขึ้น 145.02%