โครงการริเริ่มดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มต้นกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-4 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทำให้เกิดการตอบสนองที่หลากหลาย โดยบางคนมองว่า หนังสือเรียนเอไอ คือ การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาอย่างแท้จริง หรืออาจเป็นถึง “การปฏิวัติ” เลยทีเดียว ขณะที่คนอีกส่วนกล่าวว่า มันเป็นเพียง “เครื่องมือใหม่” เท่านั้น

ด้านศาสตราจารย์นีล เซลวิน จากมหาวิทยาลัยโมนาช ในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นนักวิจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการศึกษา กล่าวเตือนว่า ความตื่นเต้นเกี่ยวกับหนังสือเรียนเอไอ อาจเป็นส่วนหนึ่งของ “ฟองสบู่ความฮือฮาขนาดใหญ่” ซึ่งอาจแตกออกในที่สุด และมันอาจทิ้งปัญหาที่ยังไม่ได้แก้ไขเอาไว้ด้วย

โครงการอันทะเยอทะยานของเกาหลีใต้ เกี่ยวข้องกับการลงทุนมูลค่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,330 ล้านบาท) ในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และหนังสือเรียนเอไอ ตามส่วนหนึ่งของแผนการริเริ่มที่เรียกว่า “การปฏิวัติห้องเรียน” ซึ่งทั้งหมดได้รับการจัดสรรงบประมาณมากกว่า 276 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,200 ล้านบาท) สำหรับการทำให้โรงเรียนอยู่ในรูปแบบดิจิทัล

เป้าหมายของรัฐบาลโซลนั้นมีความชัดเจน นั่นคือ การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้เฉพาะบุคคลมากขึ้น, การรวบรวมข้อมูลเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ทางการศึกษา และการทำให้เกาหลีใต้เป็นผู้นำระดับโลก ในด้านการศึกษาด้วยเอไอ

อนึ่ง เอไอในการศึกษาไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะปัจจุบันมีการใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ อย่างแชตบอต และระบบฝึกสอนอยู่แล้ว แต่เซลวินตั้งคำถามว่า เอไอถือเป็นการปฏิวัติที่แท้จริง หรือเป็นเพียงการอัปเดตเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้แบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ เซลวินยังกล่าวเตือนว่า บทบาทของเอไอในโรงเรียน ไม่ควรได้รับการประเมินค่าสูงเกินไป เนื่องจากเขามองว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัล อยู่ในระดับ “ผิวเผิน” โดยเปลี่ยนให้นักเรียนนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ แทนหนังสือเรียนปกติ แต่บรรยากาศและสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ยังคงเป็นเหมือนเดิม

เซลวินเน้นย้ำว่า การเติบโตของเอไอ นำมาซึ่งความท้าทายในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็น การทำให้แน่ใจว่ามีอุปกรณ์เพียงพอ และเครือข่ายที่เสถียรในโรงเรียน รวมถึงปัญหาเอไอที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งอาจสะท้อนถึงการแบ่งแยกในสังคม และทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เลือกปฏิบัติได้

แม้เซลวินยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับหนังสือเรียนเอไอ ในฐานะเครื่องมือที่เปลี่ยนแปลงผู้เรียนรู้และผู้ให้การศึกษา แต่เขาก็ยอมรับถึงประโยชน์ที่อาจได้รับจากเอไอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิธีการจัดการระบบการศึกษา ซึ่งเอไอที่อยู่เบื้องหลัง สามารถช่วยให้ฝ่ายบริหารของโรงเรียน, เทศบาล หรือรัฐบาล ตัดสินใจและจัดระเบียบสิ่งต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม เซลวินเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการพึ่งพาข้อมูลมากเกินไป เนื่องจากอัลกอริทึมไม่สามารถวัดค่าด้านอารมณ์และสังคมของการเรียนรู้ได้อย่างง่ายดาย เช่น ความรู้สึก ความลำบาก หรือความท้าทายส่วนตัวของนักเรียน ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในการศึกษา เพราะไม่ว่าเอไอจะก้าวหน้าแค่ไหน มันก็ไม่สามารถเข้ามาแทนที่สิ่งนี้ได้

“ความตื่นเต้นเกี่ยวกับเอไอในระบบการศึกษาในปัจจุบัน อาจเป็นเพียงฟองสบู่เทคโนโลยีอีกแบบหนึ่ง ที่คล้ายคลึงกับเทรนด์ในอดีตอย่าง เมตาเวิร์ส หรือการเรียนการสอนออนไลน์ในระบบเปิดสำหรับมหาชน ซึ่งประสบความล้มเหลวในการทำตามคำมั่นสัญญาที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” เซลวิน กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES