เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2567 ที่ NITADE& SPACE ห้องสมุดคณะนิเทศศาสตร์ ชั้น 5  อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน ‘เสวนายุติการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ:เปิดตัวคู่มือหลักสูตรนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ’ ภายใต้การสนับสนุนของ UNESCO และ IPDC โดยมีวิทยากรที่เป็นตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา องค์กรสิทธิ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสื่อมวลชน

บรรยากาศช่วงเช้าก่อนเข้าสู่ช่วงเสวนามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ นำโดยดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.โกสุม โอมพรนุวัฒน์ อาจารย์จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,รัตนา ด้วยดี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสื่อมวลชนจากหลากหลายสำนัก

ภายในงานเสวนา ดร.ชเนตตี กล่าวถึงที่มาในการจัดงานเสวนานี้ว่า งานครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือจากหลากหลายฝ่าย สังคมทุกวันนี้มีปัญหาที่ถูกทำให้ไม่ถูกพูดถึง ถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญหรือถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และจากงานศึกษาส่วนใหญ่ทั่วโลกสรุปตรงกันว่าการคุกคามทางเพศเป็นภัยเงียบที่ผู้เสียหายหรือผู้เห็นเหตุการณ์เลือกที่จะนิ่งเฉย เพราะผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและการทำงานในองค์กรทำให้ผู้เสียหายจำนวนมากต้องเงียบเสียงลง

“เรื่องนี้มีมายาคติซ้อนทับว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ควรเป็นเรื่องอื้อฉาว เมื่อเกิดเหตุองค์กรส่วนใหญ่จึงเลือกปกปิดเรื่องพวกนี้”

ดร.ชเนตตี สะท้อนว่า องค์กรมักกังวลกับภาพลักษณ์และมองประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องส่วนตัว จึงทำให้คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้รับรู้ถึงปัญหา แต่สำหรับองค์กรสื่อในไทยเผชิญกับปัญหาการคุกคามทางเพศมาโดยตลอดเพียงแต่ไม่ถูกรายงานในที่สาธารณะ

สื่อทำงานเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เมื่อสื่อถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ เหตุใดองค์การสื่อเหล่านี้จึงเงียบเสียงลง และทำไมถึงไม่มีการรวมตัวกันเพื่อคุ้มครองสื่อ“

ดร.ชเนตตี กล่าวถึงคู่มือหลักสูตรนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อว่า เป็นหลักสูตรเรียนรู้ที่สร้างขึ้นจากการค้นคว้าและศึกษาผลกระทบที่องค์กรจะได้รับความเสียหาย โดยคาดหวังว่าจะใช้พื้นที่นี้ส่งเสียงไปยังผู้บริหารสื่อให้มีนโยบายที่ชัดเจนและรูปธรรมภายในองค์กร ซึ่งสื่อจะเป็นแบบอย่างที่ดีและยั่งยืนสำหรับสังคมได้

คู่มือนี้ไม่ได้มีแค่นโยบายหรือกลไก แต่รวมเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น สิทธิ และความรับผิดชอบของนายจ้างด้วย ส่วนในบทสุดท้ายจะเป็นการถอดบทเรียนจากโครงการในหลักสูตรนี้ เพื่อส่งต่อเรื่องหลักสูตรการป้องกันการคุกคามทางเพศที่สามารถประยุกต์ใช้ได้”

ดร.โกสุม กล่าวเสริมถึงคู่มือฯ โดยสรุปแนวทางในการทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานเป็นที่ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ ว่า 1. การกำหนดนโยบายการป้องกันการคุกคามทางเพศที่ชัดเจนและเข้มงวด โดยต้องครอบคลุมทุกรูปแบบของการคุกคาม พร้อมกำหนดมาตรการลงโทษทางวินัยที่เป็นรูปธรรม  

2.จัดตั้งช่องทางการร้องเรียนที่ปลอดภัยและเป็นความลับ พร้อมระบบสืบสวนที่เป็นธรรมและมีมาตรการคุ้มครองผู้เสียหาย เช่น การให้คำปรึกษาและการย้ายแผนกเมื่อจำเป็น

3.องค์กรยังควรส่งเสริมการอบรมเรื่องการคุกคามทางเพศให้กับพนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้ปลอดภัย เช่น การจัดพื้นที่ที่มองเห็นได้ชัดเจนและ มีการคมนาคมปลอดภัยสำหรับพนักงานที่ต้องทำงานดึก

ด้าน นัยนา สุภาพึ่ง” ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ให้ความเห็นว่า คู่มือฯ นี้จะช่วยให้องค์กรมีประสิทธิภาพในการทำงานเพราะเรื่องการคุกคามทางเพศไม่ใช่แค่เรื่องของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ แต่เป็นเรื่องขององค์กร ซึ่งในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) ฉบับที่ 190 มีการกำหนดแนวปฏิบัติไว้แล้ว

“ความจริงแล้วกฎหมายอาญาและกฎหมายแรงงานของไทยยังไม่มีรายละเอียดหรือยังไปไม่ถึง ไม่ใช่ประเทศเราไม่ให้ความสนใจ แต่เราไม่เข้าใจอนุสัญญา ILO ประเทศไทยรู้สึกหวาดหวั่นที่จะต้องปรับแก้กฎหมายในประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพราะคิดว่าประเทศเรายังมีข้อจำกัดต่างๆ จึงปฏิเสธสิ่งนั้นไป แต่แท้จริงแล้วกฎหมาย ILO เป็นตัวช่วยให้กับประเทศที่มีข้อจำกัด ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีทรัพยากรเพียงพอสามารถทำเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น ในขณะที่กฎหมายภายในประเทศ คนที่เขียนกฎหมายก็ไม่เข้าใจเรื่องการคุกคามทางเพศและมีโทษน้อยมาก”  

ขณะที่ “จิตติมา ภาณุเตชะ” นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ตั้งคำถามถึงความสำคัญของการคุกคามทางเพศว่า ทำไมถึงไม่ถูกนับว่าเป็นภัยคุกคามในชีวิต พร้อมเทียบกับเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ต้องมีการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกทางหนีไฟ ถังดับเพลิงและการให้ความรู้ต่างๆ ซึ่งทั้งสองเป็นสิ่งที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่องค์กรได้เช่นเดียวกัน แต่การคุกคามทางเพศถูกมองว่าเป็นเหตุการณ์เพียงเล็กน้อย ฉะนั้นสิ่งที่จะช่วยเรื่องนี้ได้ คือ นโยบายในการป้องกันและช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการลงทุนที่สำคัญมากเหมือนกับการป้องกันไฟไหม้

เราต้องเผชิญจากอคติ มายาคติ วัฒนธรรมทางเพศต่างๆ และพยายามลดรูปให้ปัญหานี้เป็นเรื่องของรายบุคคล รวมไปถึงวัฒนธรรมโทษเหยื่อที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม เมื่อเทียบกันเราไม่เคยล้อเล่นกับเรื่องไฟไหม้หรือระเบิด”

“จิตติมา” ยังได้เสนอว่า การรื้อหรือสร้างวัฒนธรรมเพื่อหยุดการลดรูปของการคุกคามทางเพศจะทำไม่ได้หากขาดความจริงจังของผู้บริหาร ซึ่งคู่มือฯ นี้จะช่วยเป็นแนวทางสำคัญ โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ แต่สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือจะนำสิ่งเหล่านี้ไปเป็นแนวปฏิบัติอย่างไร

“ภัทรสุดา บุญญศรี”  จาก THE STANDARD สะท้อนถึงประเด็นผลกระทบของผู้ที่ถูกกระทำ โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณีหากเกิดเหตุคุกคามขึ้นแล้วคือ

กรณีแรก หากผู้ถูกกระทำไม่ร้องเรียน จะได้ส่งผลในภาพรวม 4 ด้าน คือ 1.สภาพจิตใจ อาจเกิดความรู้สึกเครียดและกระวนกระวาย 2.ร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้าและไม่อยากทำงาน 3.คุณภาพในการทำงานอาจลดลง เช่น ไม่มีความสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ 4.ความสัมพันธ์ครอบครัวเพื่อนเปลี่ยนไป เช่น เมื่อเกิดเหตุผู้ถูกกระทำอาจไม่กล้าพูดกับใครและตีตัวออกห่างจากคนรอบตัว

กรณีที่สอง หากผู้ถูกกระทำร้องเรียนก็จะส่งผลกระทบในอีกหลายด้านอื่นๆ เช่นกัน และต้องประเมินว่ารับกับสิ่งที่จะอาจส่งผลกระทบหรือไม่ เช่น ชีวิตอาจไม่เหมือนเดิม การถูกจับตามองจากสังคม ความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อหน้าที่การงานและชีวิตในอนาคต

“อุษา มีชารี” อุปนายกด้านสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนจากสมาคมนักข่าวฯ เผยถึงมุมมองในฐานะนักข่าว ว่า อาชีพนี้ทำงานอยู่ตอลด 24 ชั่วโมงในพื้นที่เสี่ยงและไม่เสี่ยง การดูแลตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันก็ได้

แต่หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วผู้เสียหายก็ต้องมีความพร้อมและอยากให้มีความกล้าที่จะบอก ทางสมาคมนักข่าวฯ จะเป็นบ้านอีกหลังที่ให้ความเชื่อใจและความอบอุ่นเหมือนกับคนในครอบครัว เพื่อหาทางช่วยเหลือให้กับผู้เสียหาย เราจะไม่ทิ้งใคร”

“อุษา” กล่าวอีกว่า เรื่องเหล่านี้ต้องช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อให้คนตระหนักรู้ว่าสิทธิของคนเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ใช่เพียงแค่เพศชาย-หญิงแต่รวมไปถึงกลุ่มความหลากหลายทางเพศด้วย ซึ่งคู่มือฯนี้ที่หลายฝ่ายร่วมทำก็มีแนวทางที่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้

“ในการต่อยอดคู่มือฯ นี้ สมาคมนักข่าวฯ จะเป็นตัวกลางหรือสะพานเชื่อมให้ไปถึงสังคมภายนอกเพื่อสื่อสารให้สังคมรับรู้ว่าเรามีคู่มือป้องกันการคุกคามทางเพศ ทำให้สังคมตระหนักถึงสิทธิบุคคลและสื่อต้องเป็นที่พึ่งให้กับสังคมได้ เพราะฉะนั้นเราปกป้องสิทธิคนอื่นได้ เราก็ปกป้องสิทธิของเราได้เหมือนกัน ทางสมาคมนักข่าวฯ จะนำคู่มือนี้เผยแพร่ในเพจและหากเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็หยิบนำไปใช้ได้เลย”

ส่วน”ขวัญแก้ว ดงน้อย” จาก Thai PBS กล่าวในฐานะตัวแทนฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือ HR ว่า เมื่อสมาคมนักข่าวจะเป็นสะพานเชื่อม HR ก็จะเป็นโซ่ข้อกลาง แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงสิทธิของพนักงานเรื่องความปลอดภัยถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่ง HR มีบทบาทมากในเรื่องนี้

หน้าที่หลักของ HR ต้องคัดสรรหาบุคลากร แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือการดูแลคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของบุคลากรในองค์กร ในแง่ของการป้องกัน HR มีหน้าที่ดูแลตั้งแต่การรับคนเข้ามาทำงาน ทัศนคติของพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญที่จะอยู่องค์กรตลอดไปและเมื่อมีปัญหาถ้าเข้ากระบวนการ HR มีส่วนต้องช่วยสืบหาความจริง

“HR มีส่วนในการสร้างกลไกในองค์กรมากทั้งเรื่องความโปร่งใสในการประเมินเลื่อนขั้น การรักษาและระบบภายในองค์กร รวมถึงการดูแลความรู้สึกของคนเพื่อให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยและมีองค์กรที่ช่วยสนับสนุน การสร้างความตระหนักรู้และการสร้างการมีส่วนร่วมในองค์กรเกี่ยวกับการป้องกันคุกคามทางเพศก็จะทำให้เสริมพลังบวกให้กับองค์กร”

 สามารถดาวน์โหลดหนังสือคู่มือหลักสูตรนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อได้ที่นี่:https://www.commarts.chula.ac.th/th-th/news-detail.html?id=1009&fbclid=IwY2xjawGFojhleHRuA2FlbQIxMAABHViFH62HaQOvvmBUoR3_j79pbQmsOUzfOB-XA5geC1eMhWKPMty7gV7s-w_aem_PP1GNl26uhXYWaFZw2tA9w