นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้นำเสนอให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างชาติที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมีตนเป็นประธาน และมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เพื่อเดินหน้าป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีสินค้าราคาถูก และไร้มาตรฐานทะลักเข้าสู่ประเทศจำนวนมาก อีกทั้ง มีคนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยอย่างผิดกฎหมาย โดยภายหลังนายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วจะเรียกประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อเดินหน้าการทำงานทันที

“จากการหารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ทราบว่า ทางการจีนไม่ต้องการให้ผู้บริโภคชาวไทยมีทัศนคติที่ไม่ดีกับจีน  และไม่ต้องการให้เรื่องไม่ดี มากระทบต่อความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ จึงยินดีให้ความร่วมมือกับไทยเต็มที่ ส่วนกรณีของเทมู ภาครัฐจะเร่งดำเนินการให้ผู้ประกอบการเข้ามาตั้งสำนักงานในไทยโดยเร็ว เพื่อให้ภาครัฐกำกับดูแลประโยชน์ผู้บริโภค และความเป็นธรรมในการทำธุรกิจ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดือน ก.ย. 67 นายพิชัย ได้หารือกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาจีนประจำประเทศไทย โดยฝ่ายจีนพร้อมให้ร่วมมือไทยตามที่ไทยร้องขอ โดยเฉพาะแก้ปัญหาขาดดุลการค้าของไทย ซึ่งรัฐบาลจีนพร้อมส่งเสริมนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่ม รวมถึงยอมรับการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของไทย ทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ไทยบังคับใช้กับทุกประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อดูแลความปลอดภัยของคนไทย

นอกจากนี้ จีนยังยินดีสนับสนุนนำผู้ประกอบการไทย และเอสเอ็มอีเข้าไปเปิดตลาดขายสินค้าในจีน ทั้งผ่านงานแสดงสินค้า และช่องทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok หรือ Alibaba  รวมถึงสนับสนุนให้ทุนจีนเข้ามาลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง เช่นเดียวกับสนับสนุนให้ชาวจีนมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังจะพัฒนาทรัพยากรบุคคลไทยรองรับเทคโนโลยีใหม่ และส่งเสริมนโยบาย ซอฟต์พาวเวอร์

ส่วนกรณีของเทมู ทูตจีนแจ้ง่า บริษัทได้รับทราบกฎระเบียบและข้อร้องเรียนต่างๆ ของไทยแล้ว และกำลังประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทย เพื่อปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของไทย ทั้งการจัดตั้งบริษัทและลงทะเบียนอย่างเป็นทางการที่ไทย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังนั่งเป็น รมว.พาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกับกว่า 20 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ และได้กำหนด 5 มาตรการหลัก 63 มาตรการย่อยในการแก้ปัญหานี้ ได้แก่ 1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้ระเบียบ กฎหมายอย่างเข้มข้นโดยบูรณาการตรวจเข้มสินค้านำเข้า ณ ด่านศุลกากร 2.ปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าในอนาคต 3.มาตรการภาษี ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร 4.มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยให้นำธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง และ 5.ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี 

ขณะที่สถิติการค้าไทย-จีน ปี 66 มีมูลค่าการค้ารวม 104,964 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.64 ล้านล้านบาท โดยไทยขาดดุลจีน 36,635 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.29 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์