นายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) เปิดเผยว่า ตลาดคนไทยเที่ยวนอก หรือการเดินทางของคนไทยไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ขณะนี้พบว่ามีจำนวนเยอะมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม ผู้ปกครองนิยมพาบุตรหลานออกไปเที่ยวต่างประเทศ เพื่อพักผ่อนและรับประสบการณ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะในช่วงต่อจากนี้จนถึงต้นปี 2568 ถือเป็นช่วงที่คนไทยเดินทางไปเที่ยวนอกกันตามปกติอยู่แล้ว แต่อาจไม่ได้เยอะมากนัก เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงๆ เพราะยังมีปัจจัยกดดันในเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่มีเงิน ระมัดระวังในการใช้จ่ายอยู่ โดยไทยเที่ยวนอกเพิ่มขึ้นประมาณ 5-7% เทียบกับปี 66 ซึ่งถือว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เป็นผลจากมาตรการวีซ่าฟรีในหลายประเทศ ทำให้การเดินทางระหว่างกันทำได้ง่ายขี้น

ทั้งนี้ที่ผ่านมาเห็นภาพคนไทยในสนามบินแบบหนาแน่น โดยเฉพาะส่วนที่ออกไปเที่ยวต่างประเทศ อันนี้มองว่าเป็นเพราะสนามบินหลักๆ ในประเทศไทยก็ไม่ได้ใหญ่มากขนาดนั้น พื้นที่มีจำกัด และการบินในเส้นทางเดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ผู้โดยสารที่ไปสนามบินในเวลาชนกันจะเป็นภาพความหนาแน่นสะท้อนออกมา เพราะหากประเมินภาพช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ตอนต้นปีคิดว่าดีมาก แต่พอกลางปีมาตัวเลขไม่ได้ดีขนาดนั้น มีปัจจัยกระทบเรื่องค่าเงินบาทแข็ง เงินเฟ้อ เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ตัวเลขมาปรับดีขึ้นช่วงเดือนตุลาคมนี้ แต่คนส่วนใหญ่จองซื้อล่วงหน้าไปแล้ว ติดที่เงินเรามีน้อยด้วย ทำให้ภาพไม่ได้ดีขนาดนั้น อย่างวีซ่าฟรีที่มองว่าช่วยหนุนการเดินทาง แต่ประชุมกับท่องเที่ยวจีนที่ผ่านมา ตัวเลขคนไทยไปเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้มากเช่นกัน

นายเจริญ กล่าวว่า เป้าหมายทั้งปี 67 คาดการณ์ว่าจะมีคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศอยู่ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งยังไม่สามารถกลับไปเทียบเท่าปี 62 ก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีจำนวนคนไทยไปเที่ยวนอกอยู่ประมาณ 12-13 ล้านคนได้ โดยการจะกลับไปถึงจำนวนดังกล่าวยังต้องใช้เวลา เพราะมีปัญหาซ้ำซ้อนเยอะมาก ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ค่าเงินบาทแข็งค่า เงินเฟ้อ สงครามระหว่างประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งสร้างความกังวลเพิ่มขึ้นต่อการออกเดินทางปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นตัวฉุดรั้งหลักๆ

“ค่าเงินบาทแข็งไม่ได้สนับสนุนการเดินทางมากนัก เพราะค่าใช้จ่ายในการเที่ยวต่างประเทศก็ปรับขึ้นด้วย ต้นทุนการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทั้งหมด ทั้งค่าโรงแรม ค่าอาหาร ค่ารถ เฉลี่ยต้นทุนการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 10-15% อย่างในญี่ปุ่นที่เงินเยนอ่อนค่าลง แต่คนไทยก็เพิ่มขึ้นไม่ได้มากนัก เพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวสูงขึ้นกว่าเดิมเฉลี่ย 15-20% การเติบโตของตลาดไทยเที่ยวนอกจึงโตไม่ได้หวือหวามากมาย เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะมีปัจจัยรบกวน ทำให้คนเดินทางไม่ได้เพิ่มมากขึ้นเท่าที่ควร” นายเจริญ กล่าว