สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ว่าประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวอีกครั้งเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องนิวเคลียร์ของประเทศ ยืนยันว่า รัฐบาลเคียฟไม่เคยขอความช่วยเหลือดังกล่าวจากพันธมิตรตะวันตก เพื่อป้องกันตัวเองจากการคุกคามของรัสเซีย สิ่งที่กล่าวก่อนหน้านั้น หมายถึง “การขอให้ฝ่ายตะวันตกติดตั้งนำระบบขีปนาวุธเข้ามาติดตั้งเท่านั้น”


ขณะเดียวกัน เซเลนสกีกล่าวเชิงตัดพ้อด้วยว่า ยูเครนปลดอาวุธนิวเคลียร์เรียบร้อยนานแล้ว แต่กลับยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) “ซึ่งเป็นสิ่งที่ยูเครนต้องการมากที่สุดในเวลานี้” และรัฐบาลเคียฟต้องการนาโต “เพื่อเป็นอาวุธในการหยุดยั้งรัสเซีย”


ทั้งนี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เป็นการยั่วยุที่อันตราย” เพราะท่ามกลางโลกในยุคสมัยใหม่ และสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดำเนินอยู่ ณ เวลานี้ “การมีอาวุธนิวเคลียร์ไมใช่เรื่องยาก” โดยส่วนตัวเขา “ไม่ทราบ” ว่ายูเครนมีพัฒนาการด้านนี้ไปถึงไหนแล้ว แม้สถานการณ์ตอนนี้ถือว่า “ไม่ง่าย” สำหรับอีกฝ่าย ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะสงคราม “แต่โดยหลักการไม่ถือเป็นเรื่องยาก”


อนึ่ง หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เมื่อปี 2534 ยูเครนได้รับ “มรดก” เป็นคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่อันดับสามของโลก แต่รัฐบาลเคียฟลดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดภายในอีก 3 ปีให้หลัง เนื่องจากได้รับ “การรับประกันความปลอดภัย” จากสหรัฐและรัสเซียตามกรอบ “บันทึกความเข้าใจบูดาเปสต์” ซึ่งลงนามที่ฮังการี.

เครดิตภาพ : AFP