การดำเนินงาน ประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ 196 ประเทศทั่วโลก ร่วมหารือถึงแนวทางการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายและเป้าประสงค์ของกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM-GBF) เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ลดและบรรเทาภัยพิบัติ
ที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดความรุนแรงของอุทกภัยที่เกิดจากการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างไม่เหมาะสม และเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์และเป็นฐานในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 20-21 ตุลาคม 2567 ณ เมืองซานเตียโก เด กาลิ สาธารณรัฐโคลอมเบีย คณะผู้แทนไทยจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรมองค์การระหว่างประเทศ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก ประจำประเทศไทย เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 (CBD COP 16) โดยมีผู้นำระดับสำคัญได้แสดงวิสัยทัศน์สำหรับการประชุมครั้งนี้ ดังนี้ ประธานาธิบดี Gustavo Francisco รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม Susana Muhamed สาธารณรัฐโคลอมเบีย ในฐานะประเทศเจ้าภาพ กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดการประชุม โดยได้เน้นย้ำว่าประเทศโคลอมเบียเป็นจุดเชื่อมโยงหรือหัวใจของประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และเป็นจุดศูนย์กลางของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชนพื้นมืองและชุมชนท้องถิ่นทั่วโลก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน โคลอมเบียและประเทศในเขตภูมิศาสตร์เดียวกัน กำลังเผชิญกับภัยพิบัติที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และสารเคมีตกค้างอย่างมาก โคลอมเบียจึงมีความพยายามจะเป็นแหล่งคาร์บอนเครดิตที่สำคัญของโลก และพยายามอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อลดและบรรเทาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศ โคลอมเบียจึงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่ทุกประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการประชุม CBD COP 16 ณ เมืองซานเตียโก เด กาลิ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของแม่น้ำ 7 สาย มีพื้นที่คุ้มครองหลายแห่ง และมีระบบการจัดการเมืองให้มีความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โคลอมเบียหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศภาคีทุกประเทศจะได้รวมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบทางสังคมให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสันติสุข ตามหัวข้อของการจัดประชุม“Pace with Nature”
เลขาธิการสหประชาชาติ Antonio Guterres กล่าวถึงความสำคัญของการประชุม CBD COP 16 ว่าเป็นการดำเนินงานตามกรอบงานคุณหมิง – มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยขอให้ภาคีอนุสัญญาฯ หารือถึงวิธีการที่จะนำแผนไปสู่การปฏิบัติ การระดมทรัพยากรทางการเงินให้เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน การพิจารณากลไกการแบ่งปันผลประโยชน์สำหรับข้อมูลดิจิทัลของลำดับพันธุกรรมที่จะส่งผลต่อเศรษกิจและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการปฏิบัติของชนพื้นเมืองและชุมท้องถิ่นในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐประชาชนจีน Huang Runqiuในฐานะประธาน CBD COP 15 กล่าวถึงการรับรอง KM-GBF เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 เพื่อให้ภาคีอนุสัญญาฯ ใช้เป็นกรอบในการจัดทำเป้าหมายชาติ (National Targets) และแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ (National Biodiversity Strategies and Action Plans: NBSAP)โดยเป้าหมายและแผนดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในระดับนโยบายของประเทศภาคีที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดความสำเร็จในการดำเนินงานตามเป้าหมายและเป้าประสงค์ของ KM-GBF สำหรับการประชุม CBD COP 16 ซึ่งภาคีจะร่วมกันหาแนวทางสนับสนุนให้เป้าหมายและแผนฯ ให้สามารถนำไปปฏิบัติในทุกภาคส่วนของสังคมนอกจากนี้ ประเทศจีนยังประกาศเปิดตัวกองทุนความหลากหลายทางชีวภาพคุนหมิง(Kunming Biodiversity Fund: KBF) ซึ่งเป็นกองทุนใหม่ที่มีระบบการบริหารตามองค์การระหว่างประเทศ โดยจะให้การสนับสนุนงบประมาณต่อการดำเนินงานและโครงการที่สอดคล้องกับ KM-GBF
วันที่ 21 ตุลาคม 2567 ผู้แทนจาก 5 ภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่ ภูมิภาคแอฟริกา ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภูมิภาคอเมริกาใต้ ภูมิภาคยุโรปกลางและตะวันออก ภูมิภาคออสเตรเลียและโอเชียเนีย ได้กล่าวถ้อยแถลงในระหว่างพิธีเปิดประชุม CBD COP 16 โดยได้นำเสนอความก้าวหน้าในการจัดทำและจัดส่งเป้าหมายชาติและแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ประเด็นท้าทายในผลักดันเป้าหมายและแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติ และการเสนอแนวทาง รวมถึงประเด็นสำคัญที่สามารถส่งเสริมให้เป้าหมาย
และแผนฯ ถูกถ่ายทอดไปสู่การปฏิบัติ โดย ผู้แทนไทย (สผ.) ได้เสนอประเด็น Bio-Circular Green Economy ในถ้อยแถลงของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนต่อไป
ทั้งนี้ พิธีเปิดการประชุมมีผู้แทนจากภาครัฐ หน่วยงานในสหประชาชาติ องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น สตรี เยาวชน เด็ก และสื่อมวลชน เข้าร่วมกว่า 30,000 คน.