เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่รัฐสภา กรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มีนางอังคณา นีละไพจิตร เป็นประธาน กมธ. มีการประชุมเรื่องคดีตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความอีก 3 วัน โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตำรวจภูธรภาค 9, กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า, สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานอัยการภาค 9 รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมสังเกตการณ์  ซึ่งผู้มาชี้แจงใน กมธ. มีเพียงตำรวจภูธรภาค 9 และตัวแทนสำนักงานอัยการมาเท่านั้น

นางอังคณา  ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า เรื่องนี้ รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้ เพราะวันนี้มีประชุม ครม.และวันพฤหัสบดีนี้ สภาก็ยังประชุมอยู่ ยังสามารถขอเสนอ พ.ร.ก. ได้ เนื่องจากกรณีนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน

“คือได้ฟังนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ส่วนตัวมองเห็นว่าถ้าทำจริงๆ ก็น่าจะทัน  เพราะกรณีเร่งด่วน สามารถทำได้เองอยู่แล้ว ส่วนตัวก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ทัน ถ้าเตรียมก็สามารถออกได้อยู่แล้ว เป็นเรื่องของการขยายอายุความ อาจจะไม่ใช่ขยาย แต่ให้อายุความหยุดอยู่ตรงนี้ก่อนจนกว่าจะสามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลได้” นางอังคณา กล่าว

นางอังคณา กล่าวต่อว่า มันเป็นความหวังสุดท้ายของผู้เสียหายว่ารัฐบาล สามารถขยายถึงหยุดอายุความไว้ก่อนได้หรือไม่ พวกเขาจะได้รับความยุติธรรม แต่หากประตูตรงนี้ปิด คดีก็จะหมดอายุความ

เมื่อถามว่าเมื่อหมดอายุความไปแล้ว ทุกคนก็จะถือว่าพ้นผิดไปเลยใช่หรือไม่ นางอังคณา กล่าวว่า ก็เหมือนจะเป็นอย่างนั้น เหมือนกับคดีกรือเซะ การเสียชีวิตของประชาชน 31 คนในมัสยิดถือว่าหมดอายุความไปแล้ว ซึ่งกรณีนั้นผู้ก่อเหตุก็ได้รับโทษ แต่คดีตากใบนี้ เป็นการเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ จริงๆ เป็นความรับผิดชอบของรัฐโดยที่ไม่อาจปฏิเสธได้อยู่แล้ว

เมื่อถามว่าทางออกสุดท้ายในการสู้คดีนี้คืออะไร นางอังคณา ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าถ้ากลไกในประเทศไม่ทำงาน ประชาชนก็สามารถที่จะฟ้องต่อศาลระหว่างประเทศได้ ซึ่งจะมีกลไกอยู่ และเมื่อศาลรับฟ้องหรือมีคำพิพากษาแล้ว บุคคลเหล่านั้นจะไม่สามารถเดินทางเข้าไปยังประเทศนั้นๆ ได้ เพราะเข้าไปก็จะถูกจับกุม แต่ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการทำคดีเหล่านี้มากนัก อาจจะเป็นทางหนึ่งที่ต้องมาศึกษาเพิ่มเติม อีกประเด็นหนึ่งคือ การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากอาจจะเข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรง เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

“ที่ผ่านมาทุกคนมักจะตั้งคำถามและโยนความผิดให้ผู้เสียหาย แต่ที่จริงแล้วคดีอาญาแผ่นดินไม่ได้เป็นหน้าที่ของผู้เสียหายที่จะฟ้องร้องเอง แต่คดีอาญาแผ่นดินเป็นหน้าที่ของอัยการ พนักงานสอบสวนต้องทำสำนวน ฟ้องร้องแทนประชาชน ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนผู้เสียหายที่จะลุกขึ้นมาฟ้องเอง” นางอังคณา กล่าว

ส่วนประเด็นที่สังคมมองว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผู้เสียหายยังไม่ได้รับความเป็นธรรม นางอังคณา กล่าวว่า มันเกิดความเปรียบเทียบไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ แต่เป็นทั่วประเทศ ว่าเวลาประชาชนทำผิด ประชาชนต้องถูกลงโทษ มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ แต่เวลาที่เจ้าหน้าที่รัฐทำผิด แทบจะไม่เคยจับกุมผู้กระทำความผิดได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่เกิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นพื้นที่เปราะบาง มีความอ่อนไหวและยังเกิดความรุนแรงอยู่ ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ยอมรับว่าเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นความขัดแย้งทางอาวุธ แต่ในทางสากล การใช้ความรุนแรงที่ยืดเยื้อมานาน ถือว่าเข้าข่ายความขัดแย้งในการใช้อาวุธ เพราะมีความขัดแย้งกันจากเรื่องชาติพันธุ์ ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม เข้ามาเกี่ยวข้อง

นางอังคณา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกฎหมาย ประการแรก กรณีความผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จะต้องไม่มีอายุความ  ประการที่สอง คือขยายนิยามของคำว่าผู้เสียหายให้กว้างขึ้น

เมื่อถามว่าหากวันที่ 25 ต.ค.นี้ ยังไม่สามารถจับกุมผู้ต้องหามาได้ครบ ประเมินสถานการณ์อย่างไร นางอังคณา กล่าวว่า ส่วนตัวก็กังวลจริงๆ เพราะเราอยู่กับเหตุการณ์นี้มาตลอด 20 ปี เราก็บอกไปว่าความไว้เนื้อเชื่อใจที่มันกำลังริเริ่มขึ้น และมีมาในระยะหนึ่งอาจจะหมดไป เมื่อคนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งใช้การต่อสู้ด้วยความรุนแรง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ทุกฝ่ายเองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่เราก็ปล่อยให้โอกาสในการพิสูจน์ความจริงในศาลหมดไป ถ้าไม่สามารถนำตัวจำเลยมาปรากฏตัวหน้าศาลได้ คงหลีกเลี่ยงยากในการที่จะเกิดความรุนแรงตามมา ส่วนตัวก็ได้แต่พูดว่าเสียดายความไว้เนื้อเชื่อใจที่เคยมีที่อาจจะหมดไป

เมื่อถามว่าอยากจะฝากอะไรถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะที่พรรคประชาชาติก็ทำพื้นที่ภาคใต้ และนั่งเป็นหัวหน้าดูเรื่องนี้โดยตรง นางอังคณา กล่าวว่า “ท่านรัฐมนตรียุติธรรม เราก็ได้เห็นความพยายามของท่านมาโดยตลอด แต่ว่าหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงอื่น หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีการสนับสนุน ส่งเสริมที่จะทำให้มีการพิสูจน์ความจริง เช่น กรณีที่ศาลออกหมายจับแล้ว กลับปล่อยให้คนหายไปไหนตั้ง 7-8 คน โดยที่ไม่รู้ มีข่าวว่าคนหนึ่งอยู่อังกฤษ อีกคนอยู่ญี่ปุ่น แล้วที่เหลือไปไหน ตรงนี้ก็เป็นคำถามที่ท้าทายอย่างมากและตรงนี้เราจะคืนความยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างไร”

นางอังคณา กล่าวอีกว่า จากรายงานการศึกษา ทุกฉบับพูดถึงปัญหาภาคใต้ว่าเกิดจากความรู้สึกไม่เป็นธรรม แล้ววันนี้ประเทศไทยกำลังสร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นมาอีก ที่สำคัญอีกประการที่อยากฝากไปถึงรัฐบาล คือรัฐบาลต้องหยุดในการที่จะสร้างวาทกรรมในการโยนความผิดให้ผู้เสียหาย เราจะเห็นหน่วยงานรัฐบางหน่วยพยายามที่จะพูดว่ากรณีตากใบเป็นการจัดการ เป็นกระบวนการ เป็นการกระทำของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อให้เกิดการชุมนุม แต่สิ่งที่ กมธ.เองหรือทุกฝ่ายพูดในวันนี้คือใครจะรับผิดชอบการเสียชีวิตของคน 78 คน ไม่ว่าเขาจะมาจากไหน ไม่ว่าเขาจะมีความเชื่อแบบใด บุคคลเหล่านั้นต้องไม่ตาย ไม่ต้องมาเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ตรงนี้คือประเด็นสำคัญ.