เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 ต.ค. 67 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม  โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ “เดลินิวส์” ได้จัดงานเสวนา “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024” ในหัวข้อ “Soft Power : โอกาสประเทศไทย” โดยได้รับเกียรติจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานเปิดงาน  มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถา ในหัวข้อ “ซอฟต์พาวเวอร์…พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย”

นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “Soft Power : โอกาสประเทศไทย” โดย น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) นางศุภลักษณ์ อัมพุช  ประธานกรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด นางอรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละครและกรรมการ บริษัท บรอดคาซท์ไทย เทเลวิชั่น จำกัด และนายชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ที่มาร่วมกันถ่ายทอด มุมมอง เพื่อสานฝันให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทย เป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางจนเติบโตอย่างมีศักยภาพและยั่งยืน

โดยในช่วงเวทีเสวนาในหัวข้อ “Soft Power : โอกาสประเทศไทย” ทาง นายชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร  กล่าวว่า เสน่ห์ของอาหารไทยมีมานานมากกว่า 50 ปีแล้ว เราไม่ต้องทำอะไร แต่ต่างชาติรักอาหารไทยแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการมี 3  ประเด็น ทำอย่างไรให้ยั่งยืนและต่อยอดอย่างไร โดยอาหารไทยมีมูลค่าสูงถึง 4-5 แสนล้านบาท เราจะทำอย่างไรให้มีผลดีลงไปถึงหมู่บ้านต่างๆ ด้วยอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งจากการสำรวจคนไทยอาจจะไม่ได้ชอบอาหารไทยอันดับ 1 แต่คนต่างชาติกลับชอบอาหารไทยเป็นอันดับ  1 วัตถุดิบ อย่างเช่น ตะไคร้ ขายในไทยไม่กี่บาท แต่วางขายในลอนดอนราคากลับสูงถึง 12 ปอนด์ จึงต้องมองว่า ซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร จะทำอย่างไรให้คนไทยในระดับชุมชนได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ด้วย

“อุตสาหกรรมอาหารไทยในระดับชุมชนมีราคาไม่กี่บาท ไปจนถึงโรงงานระดับแสนล้าน สิ่งที่ต้องมอง คือ ต้องขับเคลื่อนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และจะสามารถนำไปเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อย่างไร การพัฒนาคนต้องเอาหน่วยงานต่างๆ มาเชื่อมต่อการทำงานด้วยกัน เพื่อให้ประโยชน์ตรงนี้ลงไปถึงคนไทยทุกระดับ เมื่อคนไทยได้ประโยชน์ ประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย”

นายชุมพล กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน วันนี้อุตฯอาหารเกี่ยวข้องกับหลายส่วน อย่างแรกที่ต้องเร่งทำ  คือ การทุ่มพัฒนาทุนทรัพยากรมนุษย์  แม้ว่าปัจจุบัน  เอไอ สามารถใช้ทำอะไรได้ทุกอย่าง แต่ก็ทำอาหารสู้คนไม่ได้ ซึ่งอุตฯอาหารในวันนี้ มีปัญหาเรื่อง แมนพาวเวอร์ ที่มีคุณภาพในยุทธศาสตร์ ได้ของบประมาณเพื่อให้เกิดโครงการ 1 หมู่บ้าน 1  เชฟอาหารไทย แล้วสามารถต่อยอดเป็นอินฟลูฯ ดารา ที่มีชื่อเสียงได้  โดยปีแรกตั้งเป้าหมาย 1.8 หมื่นคน เป้าหมายใน 4 ปี จำนวน  87,000  คน ในทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน

“ตนเคยบริหารงานร้านอาหารไทย ที่มี 4 สาขา  เรื่องคุณภาพ วัตถุดิบ รสชาติ ต้องเท่ากันทั้งหมด  เรื่องพัฒนาคนจึงสำคัญ คนจบด้านอาหารเป็นเชฟ มีเงินเดือนสูงกว่าคนจบปริญญาโท เชฟฝีมือดีได้เงินเดือนถึง 6  หลัก  ต้องพยายามสร้างเชฟเข้าอุตฯอาหารให้ได้มากๆ  ทำให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ตอนนี้ได้จับมือกับสถาบันอาชีวศึกษา 100  แห่ง และมหาวิทยาลัย 100 แห่ง ในการพัฒนาคนเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร วันนี้เราห้ามไม่ได้ให้คนต่างชาติทำอาหารไทยได้ แต่คนไทยทำอาหารไทยได้ดีที่สุด  แต่ถ้าคนไทยไม่มุ่งเน้นให้ความสำคัญ เชฟคนญี่ปุ่นจะแซงคนไทย  บุคลากรในวงการอาหารจะเป็นตัวเชื่อมกับทุกอุตสาหกรรม” นายชุมพล กล่าว