ทว่าภายใต้สถานที่ที่รู้จักกันในชื่อ “ทะเลเกรตแบร์” บริเวณนอกชายฝั่งของเกาะแวนคูเวอร์ มีพื้นที่ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “กาลาปากอสแห่งซีกโลกเหนือ” และมันอาจเป็นแบบอย่างสำหรับการปกป้องสิ่งมีชีวิตในทะเลในที่อื่น ๆ บนโลกด้วย

เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลกลางของแคนาดา ดำเนินขั้นตอนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยกำหนดให้พื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณประเทศกรีซเป็นเอ็มพีเอ ซึ่งก่อนหน้านี้ พื้นที่คุ้มครองของแคนาดามีขนาดเล็กกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

ขั้นตอนดังกล่าวเกิดขึ้นจากการปรึกษาหารือเป็นเวลานานหลายปี และมีเป้าหมายที่จะบุกเบิกรูปแบบใหม่ของ “การคุ้มครองแบบองค์รวม” ซึ่งจะช่วยให้ประชากรสิ่งมีชีวิตในทะเล ได้รับการปกป้องจากกิจกรรมที่เป็นอันตราย ต่าง ๆ ทั่วมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ โดยมุ่งหวังว่าพวกมันจะฟื้นตัวและเจริญเติบโตได้ และที่สำคัญคือ การพูดคุยยังเกี่ยวข้องกับแนวทางใหม่ในการทำงานร่วมกัน

นอกจากรัฐบาลออตตาวา ตัวแทนของอุตสาหกรรมการประมง และชุมชนพื้นเมืองที่พึ่งพาทรัพยากรในพื้นที่เพื่อการดำรงชีพ ก็ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาแผนการคุ้มครอง ซึ่งสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่นกัน

“ผมมองในแง่ดีว่า เราจะสามารถเป็นต้นแบบสำหรับแนวคิดริเริ่มใด ๆ ในอนาคต เกี่ยวกับการคุ้มครองทางทะเลได้” นางแดเนียล ชอว์ หัวหน้าชนเผ่าวุยคีนุกซ์ ซึ่งเป็นชุมชนพื้นเมืองแห่งหนึ่งในพื้นที่ กล่าว

การประมงเกินขนาด, มลพิษ และนํ้าทะเลที่อุ่นขึ้น อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณทะเลเกรตแบร์อย่างมาก ซึ่งชอว์กล่าวเสริมว่า ชุมชนต้องหยุดทำการประมงในบางปี เพื่อปกป้องประชากรปลาที่เปราะบาง

อนึ่ง อาณาเขตที่เพิ่งได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่คุ้มครองอย่างเป็นทางการ มีปลา 64 สายพันธุ์, นกทะเล 70 สายพันธุ์ รวมถึงวาฬ, หมี, หมาป่า และป่าซีดาร์โบราณ อีกทั้งบริเวณก้นทะเล ยังมีภูเขาใต้ทะเลมากกว่า 47 ลูกด้วย

“มันคือแหล่งรวมระบบนิเวศและสายพันธุ์สัตว์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตลอดจนสายพันธุ์สัตว์ที่ตกอยู่ในความเสี่ยง” นางเคท แมคมิลแลน ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ของโครงการมหาสมุทร จากสมาคมอุทยานและป่าแห่งแคนาดา รัฐบริติชโคลัมเบีย (ซีพอว์ส-บีซี) กล่าว

ทั้งนี้ แนวทางของเอ็มพีเอ มีเป้าหมายที่จะกำหนดข้อจำกัดใหม่หลายประการต่อกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ทางทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึงการห้ามสำรวจนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติ, การแสวงหาผลประโยชน์จากแร่, การกำจัดของเสีย, การใช้อุปกรณ์ขุดลอก และอื่น ๆ

แม้แมคมิลแลน อธิบายว่าโมเดลเอ็มพีเอเป็น “เครื่องมือสำคัญ” แต่เธอเตือนว่า มันไม่ใช่วิธีการที่ง่ายและมีประสิทธิภาพ ในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน เนื่องจากภัยคุกคามต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบริติชโคลัมเบีย ซึ่งมีการจราจรทางทะเลเพิ่มขึ้น รวมถึงการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี).