เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 67 ที่วัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม ต.สวนพริกไทย อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย คนที่ 41 พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ  ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสพีซีจี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีทอดกฐินสามัคคีวัดบางหลวงหัวป่า ประจำปี พ.ศ. 2567

DCIM100MEDIADJI_0215.JPG

โดยได้รับเมตตาจาก พระราชวชิรโมลี รองเจ้าคณะภาค 14 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร พระราชสิริวัชรรังษี รองเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดชินวราราม วรวิหาร พระพิมลภาวนาพิธาน เจ้าคณะเขตบางกอกน้อย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม และคณะสงฆ์ ร่วมประกอบพิธี

การประกอบพิธีทอดกฐินสามัคคีวัดบางหลวงหัวป่า ประจำปี พ.ศ. 2567 มีคณะผู้มีจิตศรัทธาและประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ (คุณโจ) คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นายคมสัน ญาณวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี โดยมีปัจจัยถวายรวมทั้งสิ้นจำนวน 8,350,506 บาท

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กล่าวสัมโมทนียกถาตอนหนึ่งว่า ‘กฐิน’ เป็นคำศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ โดยคำว่าการทอดกฐิน หรือการกรานกฐิน จัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลา คือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด ดังนั้นกฐินจึงจัดเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังฆกรรมของพระสงฆ์โดยจำเพาะ ชาวพุทธเรารู้กันทั่วไปว่าการทอดกฐินเป็นบุญพิเศษ เพราะจำกัดด้วยเวลาและการถวายให้กับพระภิกษุผู้จำพรรษาในวัดที่ทอดกฐินเท่านั่น

“การสร้างวัดก็เสมือนเป็นการสร้างสถานที่ฝึกอบรมคนให้เป็นคนดี  เราต้องช่วยกันการสร้างคนดีให้มีมากขึ้นในสังคม คนดีมาก คนไม่ดีก็น้อยลง คนไม่ทีดีน้อย สังคมก็เป็นสุข เวลาสอนคนทุกครั้ง อาตมาไม่เคยสอนให้คนไปสวรรค์นิพพาน แต่สอนให้เป็นคนดีของสังคม เป็นบุคคลที่พึงประสงฆ์ของประเทศชาติ จึงฝากวัดบางหลวงหัวป่าไว้ให้ทุกคนร่วมกันดูแล เนื่องจากวัดมิได้เป็นของผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นของทุกคน เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา”

พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) กล่าวว่า วัดบางหลวงหัวป่าในพรรษานี้ มีพระภิกษุจำพรรษาจำนวน 5 รูป ซึ่งเดิมบางหลวงหัวป่าแห่งนี้ เป็นวัดร้างตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาตมภาพจึงได้ร่วมกับ ‘ปลัดเก่ง’ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย คนที่ 41 ตั้งแต่เมื่อครั้งท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ‘ดร.ตุ๋ม’ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เป็นผู้ขอบูรณปฏิสังขรณ์ และขอยกวัดร้างแห่งนี้ให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาต่อไป เป็นวัดสาขาของวัดระฆังโฆสิตาราม มีเนื้อที่ 23 ไร่ 64 ตารางวา โดยในช่วงที่ผ่านมา วัดได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วย ต้นไม้ประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ต้นไม้ทุกต้นจะมีคิวอาร์โค๊ดอยู่ เพื่อให้รู้ว่าชื่ออะไร มีประโยชน์อะไรบ้าง

ซึ่งเป็นไปตามความตั้งใจของ คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ และ ดร.วันดี  ที่ประสงค์จะให้สถานที่แห่งนี้ เป็นรมณียสถาน สถานที่แห่งความร่มเย็น และเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นสถานที่แห่งการร่วมทำในสิ่งที่ทุกคนในโลกใบนี้ต้องช่วยกัน นั่นคือ การลดภาวะโลกร้อนตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ  การก่อสร้างตอนนี้ทำหลายอย่าง อุโบสถกำลังก่อสร้างได้เงินบริจาคจาก คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ และ ดร.วันดี  กุญชรยาคง จุลเจริญ ตั้งต้น 17 ล้านบาท เจ้าของช่อง 7 ถวายมาอีก 7 ล้านบาท คุณละออ ตั้งคารวคุณ ช่วยสร้างกุฎิให้ 1 หลัง ยังมีเจ้าภาพสร้างหอระฆัง หอกลองให้ด้วย ที่เล่ามาทั้งหมด อาตมาไม่ได้หมายความว่าเอยชื่อแต่คนถวายเงิน พูดเพื่อให้ทุกท่านร่วมกันอนุโมทนา เนื่องจากความตั้งใจขออาตมาสร้างวัดต้องให้เป็นของทุกคน มิได้ต้องการให้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า วัดบางหลวงหัวป่าแห่งนี้ เป็นศาสนสถานที่เป็นผลต่อเนื่องจากการสนองพระบรมราโชบายในการแก้ไขในสิ่งผิดฟื้นฟูคลองเปรมประชากรจากที่น้ำเน่า มีผู้คนบุกรุก ให้กลับมาใสสะอาดสวยงามสร้างความสุขให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า เพราะวัดนี้เป็นวัดร้างริมคลองเปรมประชากรมีประชาชนบุกรุกอยู่อาศัยจำนวนหนึ่ง ท่านพระครูต้น จึงได้พูดคุยและจัดหาที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงกันเพื่อสร้างบ้านให้ใหม่ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกครัวเรือนสมัครใจย้ายและนำที่ดินวัดร้างมายกฐานะเป็นวัดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา