นพ.เจษฎา ทองเถาว์ แพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ จิตแพทย์ประจำ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี ได้เผยผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “วิเคราะห์ปมวัยเด็กและบุคลิกภาพที่บิดเบี้ยวของบอสให้ฟังได้ไหม? แล้วทำไมการวิเคราะห์/วิจารณ์บุคลิกภาพของคนที่ยังมีชีวิต จึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงมากๆ?” หลังข่าวการถูกจับของผู้ต้องหาชื่อดัง หมอได้เห็นบทความหนึ่งที่มีการวิเคราะห์บุคลิกภาพของผู้ต้องหาระดับบอส โดยระบุว่าบุคลิกภาพของเขาน่าจะมีความผิดปกติแบบใด มีการเชื่อมโยงเพื่ออธิบายปมในวัยเด็กกับผลของการทำผิดในปัจจุบัน และวิเคราะห์ถึงแผนการของเขาในอนาคต ฯลฯ เป็นโพสต์ที่มีการแชร์ต่อมากๆ
-ชาวเน็ตแห่ขุดคลิป ‘บอสพอล’ สะอื้นเล่านิทานอยากกินส้ม จนมีคนมาเปิดบิล

“ส่วนตัวแล้ว หมอแอบรู้สึกไม่สบายใจ เนื่องจากการวิเคราะห์ลักษณะดังกล่าว ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่ยังมีประเด็นจริยธรรมที่สำคัญซึ่งสังคมต้องระมัดระวัง” จริงอยู่ที่พฤติกรรมต่างๆ ในข่าวที่เราได้เสพกันนั้นมีความชัดเจนของพฤติกรรมมากอยู่ แถมข่าวก็โหมกระหน่ำย้ำทุกชั่วโมง แต่ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสิน คนเหล่านั้นก็ยังนับว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ การวิจารณ์หรือการด่วนสรุปในที่สาธารณะ อาจกลายเป็นการสร้างความเสียหายอย่างไม่เป็นธรรมต่อบุคคลนั้น หรือต่อให้คนเหล่านั้นจะมีความผิดจริง มีคดีที่ต้องถูกลงโทษจริงๆ แต่พวกเขาก็ยังคงมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องในเรื่องชื่อเสียงตามกฎหมาย

“การกล่าวโทษหรือตีตราว่า คนๆหนึ่งมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบxxxหรือyyy โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่ถูกต้อง หรือไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าตัว อาจถือเป็นการแสดงความคิดเห็นเกินขอบเขต ซึ่งอาจเข้าข่ายหมิ่นประมาท และสุ่มเสียงมากๆต่อความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา”

ถ้าทุกคนสังเกตให้ดี จะเห็นว่าที่ผ่านมา เราแทบไม่เคยเห็นว่ามีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือบุคลากรทางการแพทย์ ออกมาวิเคราะห์หรืออธิบายกลไกของบุคลิกภาพที่ผิดปกติของใครเลย แม้ว่าในสังคม เราจะเห็นคนที่น่าหมั่นไส้ หรือมีลักษณะที่เด่นชัดมากๆ เหมือนเดินออกมาจากตำราจิตเวชมากแค่ไหนก็ตาม ไม่ใช่เพราะขาดข้อมูลหรือขาดความสามารถในการวิเคราะห์ แต่เพราะการกระทำนี้ ขัดต่อจริยธรรมทางการแพทย์ จึงไม่สามารถทำได้

“การวินิจฉัยบุคลิกภาพผิดปกติ เช่น บุคลิกภาพผิดปกติชนิดต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder :ASPD) ไม่สามารถทำได้จากการคาดเดาหรือเชื่อมโยงข้อมูลในเน็ต แต่ต้องอาศัยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการเก็บข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น การสัมภาษณ์ทางจิตเวชและการประเมินทางคลินิกจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง”

การใช้เพียงข้อมูลผิวเผินจากข่าวมาวิเคราะห์จึงเป็นการตัดสินที่ไม่รอบคอบและไม่เป็นธรรม หรือถ้าลองคิดต่อไปไกลๆ เลยว่า ถ้าคนๆนั้นเขามีความผิดปกติแบบที่คาดไว้จริงๆ หมอก็ไม่เห็นว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หากเราใช้ข้อมูลเหล่านี้เพียงเพื่อตัดสิน ตีตรา และซ้ำเติมกัน

แล้วเราจะสามารถวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นในสื่อโซเชียลได้มากน้อยแค่ไหน?
คำแนะนำเกี่ยวกับการโพสต์หรือวิจารณ์เรื่องบุคลิกภาพผิดปกติ
1.หลีกเลี่ยงการตีตรา: อย่าระบุว่าบุคคลมีความผิดปกติทางจิตเวชหรือบุคลิกภาพโดยไม่มีหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญ
2.ใช้ถ้อยคำรอบคอบ: แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ไม่พาดพิงบุคคลหรือสร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียง
3.เคารพความเป็นส่วนตัว: คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลและหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจละเมิดความเป็นส่วนตัว..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา