เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2567 ที่ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น.ส.สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล, นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความในคดีตากใบ, อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายมูฮัมมัดสาวาวี อูเซ็ง ผู้แทนญาติผู้เสียหายคดีตากใบ ร่วมเสวนาวิชาการในหัวข้อ “คดีอาญาตากใบขาดอายุความ : ความรับผิดชอบใคร จะดำเนินคดีต่อได้หรือไม่ ?“ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

รศ.ดร.ปกป้อง กล่าวเปิดเสวนาว่า คดีตากใบที่กำลังจะหมดอายุความในอีก 5 วัน ในวันที่ 25 ต.ค. 2567 ทำให้ต้องมาพูดคุยกันว่าในทางวิชาการในวันนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งคดีตากใบที่ญาติยื่นฟ้องศาล จ.นราธิวาส และคดีที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง เป็นคดีอาญา ฆ่าผู้อื่น ที่กฎหมายอาญากำหนดว่า ความผิดอาญาคดีฆ่าคนตาย ถ้าไม่ได้ฟ้องและนำตัวผู้ต้องหามาศาล ภายใน 20 ปี ทำให้คดีขาดอายุความ ทั้งนี้ คดีนี้อัยการสั่งฟ้องแล้ว และมีตัวผู้ต้องหา หากนำตัวมาที่ศาลทันเวลา คดีจึงไม่ขาดอายุความภายใน 20 ปี แต่ถ้าขาดอายุความ คดีจะระงับสิ้นสุดลง การพิสูจน์ความผิดจะหยุดลง

รศ.ดร.ปกป้อง กล่าวต่อว่า กฎหมายไทยที่กำหนดอายุความ เปิดช่องให้ผู้กระทำผิดหลบหนีไปต่างประเทศ ก่อนคดีจะหมดอายุความ แล้วกลับมาเมืองไทย หลังจากนั้นมาก็รอดคดี แต่ในต่างประเทศ คดีฆาตกรรมในบางประเทศ ไม่มีอายุความ เพราะเป็นคดีร้ายแรง บางประเทศมีอายุความ บางประเทศไม่มี แต่มีความเป็นสากลเรื่องอายุความ ที่ตรงกัน อย่างธรรมนูญกรุงโรม บัญญัติว่าไม่มีอายุความ โดยมี 4 ฐานความผิดที่กำหนด เช่น ความผิดฐานล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ มนุษยชาติ และสงคราม อาชญากรรมจากผู้รุกราน

รศ.ดร.ปกป้อง กล่าวอีกว่า ในกฎหมายฝรั่งเศส อายุความในคดีอาญา หยุดได้ เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้อง หรือพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษ อายุความสะดุดลงให้นับใหม่ สำหรับประเทศไทยจึงสามารถปรับแนวทางเหล่านี้ มาใช้แก้ปัญหาอายุความได้ อีกทั้งข้อเสนอคือการแก้ไขกฎหมายนี้ ทำอย่างไรให้คดีอาญาสะดุดลงได้ เพราะอัยการมีหลักฐานครบแล้ว อัยการสั่งฟ้องแล้ว ตามหลักกฎหมายฝรั่งเศส และกฎหมายญี่ปุ่น ถ้าผู้ต้องหาหลบหนี โดยเฉพาะหลบหนีจากต่างประเทศ ให้หยุดนับอายุความ แต่ในไทย ไม่มีความผิดในคดีอาญา

รศ.ดร.ปกป้อง กล่าวต่อว่า ในประเทศไทยมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เมื่อปี 2554 มีการกำหนดว่าคดีที่พนักงานของรัฐที่กระทำการทุจริต ไม่นับอายุความ แต่คดีอาญาฆาตกรรม ยังไม่มี อีกทั้ง ความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายอายุความ เป็นไปได้ยาก เพราะต้องทำภายใน 5 วันนี้ และยังมีแนวทางของศาลฎีกา ที่มองว่าอายุความเป็นกฎหมายอาญา กฎหมายใหม่ที่แก้อายุความ ถ้าเป็นผลร้าย จะไม่ย้อนหลัง เพื่อที่จะให้นับย้อนหลังไปใช้บังคับกับคดีตากใบ ต้องแก้ไขภายใน 5 วันนี้ 

รศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า เรื่องอายุความของคดีตากใบ ต้องดูที่กฎหมายอายุความ เพราะปัญหาของไทย อายุความเขียนไว้ในทางที่ส่งเสริมให้มีการหนี กระทำความผิดแล้วหนีให้ขาดอายุความ แล้วกลับประเทศไทยแบบลอยนวล หากต้องแก้กฎหมาย ถ้าจะให้ทันภายใน 5 วันนี้ อาจต้องให้รัฐบาลออกเป็น พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 22 ต.ค. 2567

รศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า ในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ บุคคลจะรับผิดในทางอาญาตามที่กฎหมายบัญญัติ และรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติขณะนั้น ซึ่งแนวทางของศาลฎีกาใช้เรื่องนี้ได้ และถ้ารัฐบาลจะออก พ.ร.ก. ก็มีรัฐธรรมนูญข้อนี้รองรับ ที่จะย้อนหลังได้ เพราะคดีตากใบ เป็นคดีอาญา เป็นคดีฆ่าผู้อื่น ร่วมกันฆ่าผู้อื่น และกักขังหน่วงเหนี่ยว อย่างไรก็ตาม ถ้าวันที่ 25 ต.ค. 2567 แม้อายุความขาดแล้ว ไม่ได้แปลว่าจำเลยตามหมายจับ ศาล จ.นราธิวาส จะพ้นผิด ยังมีความผิด แต่ลงโทษไม่ได้ แม้อายุความขาดแล้ว ไม่ใช่กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ยังเป็นคนผิด แต่ลงโทษไม่ได้

รศ.ดร.ปริญญา กล่าวด้วยว่า การแก้ไขมาตรา 172 เรื่องอายุความ ถ้ารัฐบาลจะผลักดัน อาจเข้าเกณฑ์ มาตรา 172 ในกรณีที่เป็นประโยชน์เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ซึ่งต้องพิจารณาว่าปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าเกณฑ์หรือไม่ 

“ขั้นต่ำสุดที่เราคาดหวังจากรัฐบาล ต้องแก้ไขกฎหมายอายุความ เพราะสังคมคาดหวัง เรื่องนี้เป็นเรื่องขั้นต่ำมาก ส่วนที่ระหว่างนี้รัฐบาลจะทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่ ความจริง หลักแค่ว่า การจะได้ตัวจำเลยมาขึ้นศาลหรือไม่ก็เรื่องหนึ่ง ถ้ารัฐบาลทำเต็มที่แล้ว คนวิจารณ์ได้ลำบาก เพราะทำเต็มที่แล้ว ถ้าถึง 25 ต.ค. 2567 สังคมเห็นว่าไม่เต็มที่ เสียงวิจารณ์หรือข้อที่จะกล่าวหารัฐบาล ว่าช่วยกันหรือไม่” รศ.ดร.ปริญญา กล่าว 

ขณะที่ นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวว่า วันนี้สังคมให้ความสนใจกับคดีตากใบ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ตนในฐานะผู้ทำงานในพื้นที่  เห็นว่ากลไกทำงานของกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถอำนวยความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้

“ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรอยู่ คดีไต่สวนการตายในคดีตากใบซึ่งเสร็จสิ้นในปี 2552 แต่ต้องส่งสำนวนคืนไปยังพนักงานอัยการ และพนักงานสอบสวน ซึ่งต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการกระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ และต้องเดินหน้าทันทีหากพบผู้กระทำความผิด แต่ผลออกมาชี้ว่าไม่มีการกระทำความผิดทางอาญา ซึ่งทำให้คดีหยุดอยู่ตรงนั้น แต่กฎหมายไม่ได้ตัดสิทธิญาติของผู้ตาย ที่จะดำเนินคดีด้วยตัวเอง ซึ่งญาติของผู้ตายรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม” อับดุลกอฮาร์ กล่าว

นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวอีกว่า ทุก ๆ ปี ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ จัดงานรำลึกเหตุการณ์ รวมถึงผลักดันการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตลอด แต่ไม่ได้นับความสนใจจากรัฐ ในวันที่ 25 ต.ค. 2567 คดีจะหมดอายุความลง ก็เท่ากับว่าคดีนี้จะจบลงไป สิ่งเหล่านี้คือปัญหากลไกของกฎหมาย ซึ่งตนอยากฝากไปถึงผู้มีอำนาจว่าต้องแก้ไขเพื่อให้กลไกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องรอให้ประชาชนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาเองแบบนี้ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัญหาในพื้นที่มีเยอะ แต่ปัญหาความอยุติธรรม ถือเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข 

น.ส.สัณหวรรณ กล่าวว่า ในมุมของนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สิ่งที่อยากให้แก้ไข 2 อย่าง คือ 1. คดีไม่มีหมดอายุความในบางคดี หากจะมีการแก้ไขตามหลักสิทธิมนุษยสากล เช่น การฆาตกรรม และการทรมาน รวมถึงคดีกรณีที่รัฐเป็นผู้ต้องสงสัย เช่น การอุ้มหาย และวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งควรจะนำเข้าไปแก้ไขในกลุ่มนี้ด้วย 2. กรณีที่ผู้ต้องหาหลีกหนีไปต่างประเทศ ในกรณีนี้ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป และอเมริกา มีคำพิพากษาว่า ไม่ควรให้มีกำหนดอายุความหากเกิดกรณีที่รัฐล้มเหลวในการนำผู้ต้องหามาลงโทษ เช่น เกิดจากความล่าช้าของรัฐ โดยดูจากการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินคดีถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ควรจะนำมานับว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย ทั้งหมดเป็นประเด็นที่อยากให้ไปพิจารณาหากจะมีการแก้ไขกฎหมาย

นายมูฮัมมัดสาวาวี กล่าวว่า ตนอยากสะท้อนเรื่องราวความเจ็บปวดตลอด 20 ปี เพราะตนรอความยุติธรรมทำมา 20 ปี ขอย้ำว่าอยากให้มีการยุติธรรมว่าใครผิดใครถูก ตนไม่อยากทราบแค่ว่าสาเหตุการตายคือการขาดอากาศหายใจและไม่มีใครมารับผิด ทั้งนี้ ตอนเห็นคลิปการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ทำกับผู้ชุมนุมในวันนั้น ซึ่งได้กระทำเหมือนผู้ชุมนุมนั้นไม่ใช่คน รวมถึงช่วงเวลานี้ก็ใกล้ที่จะหมดอายุความแล้ว มันทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ถึงใจในการแก้ไขปัญหาและประชาชนจะมีความเชื่อใจได้อย่างไร ตนมองว่ารัฐบาลมีการโยนหน้าที่กันไปกันมา ตนเลยอยากจะถามว่าจะให้เราไปสู่ทางไหนได้บ้าง

ส่วนกรณี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ได้ทำการลาออกไปจากพรรคเพื่อไทยแล้วนั้น ตนไม่เชื่อ และอยากให้รัฐบาลออกมาขอโทษจากใจจริงเพราะถึงแม้รัฐบาลจะชี้แจงว่ากรณีของ พล.อ.พิศาล เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่บุคคลนั้นก็อยู่ในพรรคของรัฐบาลนี้เช่นกัน