เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มีนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน กมธ.  ได้พิจารณาเนื้อหาแล้วเสร็จ และเตรียมส่งให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ภายในสัปดาห์นี้ และเบื้องต้นได้ประสานไปยังคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แล้วว่าจะให้สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาภายในสมัยประชุมนี้ ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ แต่ขึ้นอยู่กับวิปรัฐบาลจะมีวาระด่วนเรื่องอื่นพิจารณาก่อนหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  สำหรับการพิจารณาเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 15 มาตรา มีส่วนที่เป็นสาระสำคัญซึ่ง กมธ. แก้ไข 12 มาตรา และมี 1 มาตรา สำหรับมาตราที่มีการพิจารณาทบทวนหลังจากที่ก่อนหน้านี้ กมธ.มีมติตัดออกไป คือ ร่างมาตรา 12 ว่าด้วยบทกำหนดโทษให้กับ กมธ.ที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ หรือ ทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่ง ผู้ใด ให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ล่าสุดนั้น กมธ.ได้นำกลับมาบัญญัติไว้ในรายงานแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  สำหรับมาตราที่ กมธ.เพิ่มขึ้นใหม่นั้นว่าด้วยบทกำหนดแนวทางใช้มาตรการบังคับทางอ้อมกับภาคเอกชน โดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการของภาคเอกชน เร่งรัดการส่งเอกสารหรือแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นต่อ กมธ. โดยกำหนดกรอบเวลาให้ดำเนินการภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากประธาน กมธ.

ซึ่งมีบทบัญญัติที่ กมธ.กำหนดขึ้นดังนี้ ในกรณีที่บุคคลซึ่งไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรี หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของ กมธ. ให้ประธาน กมธ.โดยความเห็นชอบของ กมธ. มีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจในการควบคุม กำกับการประกอบอาชีพ หรือประกอบกิจการของบุคคลนั้น ดำเนินการเร่งรัดให้บุคคลนั้นส่งเอกสาร หรือ มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นต่อ กมธ.

ทั้งนี้กำหนดกรอบระยะเวลาให้หน่วยงานรัฐ รายงานผลดำเนินการต่อ กมธ.ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากประธาน กมธ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ในประเด็นการกำหนดโทษส่วนของเอกชนที่ กมธ.เรียกให้ชี้แจงต่อ กมธ. หากไม่ปฏิบัติตาม มีข้อถกเถียงว่าอาจเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตและมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะมีผลกระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพกับบุคคลธรรมดา ที่อาจถูกนำไปเป็นประเด็นยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความได้อีก จึงมีข้อเสนอให้กำหนดเป็นการปรับเป็นพินัยที่ต้องนำไปออกกติกาเพื่อให้บังคับใช้ได้อย่างเหมาะสม แต่พบว่ามีความเห็นแย้งกัน จึงให้ กมธ.สงวนคำแปรญัตติไปอภิปรายต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป.