สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ว่าวิกฤติน้ำยังอาจส่งผลให้นานาประเทศทั่วโลกสูญเสียผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เฉลี่ย 8% ภายในปี 2593 โดยกลุ่มประเทศรายได้ต่ำอาจเผชิญกับภาวะจีดีพีหดตัว มากถึง 15% และเผชิญกับผลพวงทางเศรษฐกิจที่รุนแรงยิ่งกว่าด้วย


รายงานฉบับนี้เน้นย้ำว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การใช้ที่ดินอย่างอันตราย และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำผิดพลาดเรื้อรัง กอปรกับวิกฤติสภาพอากาศที่เลวร้ายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้วัฏจักรน้ำทั่วโลกตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน


ประชาชนเกือบ 3,000 ล้านคน และการผลิตอาหารมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง หรือมีแนวโน้มมีน้ำใช้โดยรวมที่ไม่แน่นอน ขณะเดียวกัน เมืองหลายแห่งบนโลกกำลังเสี่ยงทรุดตัวจมลงเพราะสูญเสียน้ำใต้ดิน


นายโจฮัน ร็อกสตรอม ผู้อำนวยการสถาบันพอตส์ดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศ หนึ่งในสี่ประธานร่วมของคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยเศรษฐศาสตร์น้ำ กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรครึ่งหนึ่งของโลกประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำ การขาดแคลนน้ำที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนามนุษย์เผชิญความเสี่ยง


มนุษย์กำลังทำลายสมดุลของวัฏจักรน้ำทั่วโลก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มนุษย์ไม่สามารถพึ่งพาแหล่งน้ำจืดหลักอย่างหยาดน้ำฟ้าได้อีกต่อไป เพราะมนุษย์เป็นต้นตอของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและที่ดิน บ่อนทำลายพื้นฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และเศรษฐกิจโลก.

ข้อมูล : XINHUA

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES