ย้อนกลับไปเมื่อปี 2517 อินเดียสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก ด้วยการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ และการดำเนินการครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้แก่แคนาดา ซึ่งกล่าวหารัฐบาลนิวเดลี “ลักลอบ” สกัดพลูโตเนียม จากเตาปฏิกรณ์ที่แคนาดามอบให้เป็นของขวัญ โดยรัฐบาลออตตาวาเน้นย้ำกับอินเดียตลอดว่า “ต้องใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ และตามนโยบายนิวเคลียร์เพื่อสันติ” เท่านั้น หลังจากนั้น แคนาดาระงับความสนับสนุนให้กับโครงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของอินเดีย

กรณีดังกล่าวเรียกได้ว่า “เป็นจุดเริ่มต้น” ของความสัมพันธ์ที่เย็นชาและตึงเครียดระหว่างทั้งประเทศ แม้ความสัมพันธ์ทางการทูต และความร่วมมือทางการค้าอยู่ในระดับ “ปกติ” เรื่อยมา จนกระทั่ง คณะผู้แทนเจรจาของอินเดียและแคนาดาพบหารือกันที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา “เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน” เกี่ยวกับคดีการสังหารนายฮาร์ดีป สิงห์ นิจจาร์ เมื่อเดือนมิ.ย. 2565 โดยนิจจาร์เป็นพลเมืองแคเนเดียนเชื้อสายอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาซิกข์ เคลื่อนไหวเพื่อก่อตั้ง “รัฐอิสระคาลิสถาน”

สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำกรุงออตตาวา ในแคนาดา

อย่างไรก็ตาม เพียงสองวันหลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ผู้นำแคนาดา ประกาศให้เจ้าหน้าที่การทูต 6 คนของอินเดีย หนึ่งในนั้นคือนายซันเจย์ กุมาร เวอร์มา เอกอัครราชทูต มีสถานะเป็น “บุคคลไม่พึงปรารถนา” และต้องเดินทางออกจากแคนาดา

ในเวลาเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศอินเดียประกาศ เนรเทศเจ้าหน้าที่การทูต 6 คนของแคนาดา รวมถึงนายสจวร์ด รอสส์ วีเลอร์ อุปทูตปฏิบัติหน้าที่รักษาการเอกอัครราชทูตแคนาดา โดยบุคคลทั้งหมดเดินทางออกจากอินเดีย ตามคำสั่งภายในวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น หลังพนักงานสอบสวนของแคนาดากล่าวว่า เอกอัครราชทูตอินเดีย และนักการทูตอีก 5 คนในรายชื่อที่ถูกเนรเทศ ถือเป็น “บุคคลน่าจับตา” เกี่ยวกับคดีการฆาตกรรมนิจจาร์ ตอลดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลออตตาวากล่าวว่า หน่วยข่าวกรองอินเดียมีส่วนรู้เห็นและเกี่ยวข้องโดยตรง กับการสังหารนิจจาร์ และประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของแคนาดา และกฎหมายระหว่างประเทศ

ด้านนางเมลานี โจลี รมว.การต่างประเทศแคนาดา ตำหนิอินเดียที่ไม่เคยให้ความร่วมมือกับเรื่องนี้ และปฏิเสธระงับสิทธิคุ้มกันทางการทูตของบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนิจจาร์ ซึ่งอพยพมายังแคนาดา เมื่อปี 2540 และได้รับสัญชาติแคนาดา เมื่อปี 2558

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอินเดียออกแถลงการณ์ ตอบโต้คำกล่าวของโจลี ว่าจำเป็นต้องเรียกตัวเวอร์มาและนักการทูตอีกหลายคนให้เดินทางกลับ เนื่องจากรัฐบาลนิวเดลี “หมดศรัทธา” กับ “การให้คำมั่น” ของรัฐบาลออตตาวา ที่จะคุ้มครองความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่การทูตอินเดีย และประณามการที่แคนาดากล่าวหาอินเดีย ว่าเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนิจจาร์ “ไร้สาระที่สุด” และเป็นความพยายามใส่ร้ายป้ายสีอินเดีย เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของทรูโดเท่านั้น

กลุ่มนักเคลื่อนไหวสนับสนุน “รัฐอิสระคาลิสถาน” ที่เมืองอมฤตสระ หรือเมืองอัมริตสาร์ ในรัฐปัญจาบ ทางตอนเหนือของอินเดีย ชูแผ่นป้ายที่มีขอ้ความสนับสนุนนายฮาร์ดีป สิงห์ นิจจาร์ และเรียกร้องรัฐบาลแคนาดาจับกุมผู้กระทำผิดมารับโทษ

อนึ่ง การเสียชีวิตของนิจจาร์ ซึ่งถูกยิงหน้าศูนย์วัฒนธรรมชาวซิกข์ ในเมืองแวนคูเวอร์ เป็นชนวนเหตุให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับแคนาดา ตึงเครียดมานานระยะหนึ่งแล้ว และส่งผลให้รัฐบาลออตตาวาระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี ( เอฟทีเอ ) กับอินเดีย ด้านรัฐบาลนิวเดลี เมื่อปีที่แล้ว และอินเดียระงับออกวีซ่าให้กับพลเมืองและผู้ประกอบการของแคนาดาเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ บริษัทมากกว่า 600 แห่งของแคนาดา รวมถึง บอมบาเดียร์ หนึ่งในบริษัทด้านอากาศยานยักษ์ใหญ่ของโลก มีสาขาในอินเดีย และบริษัทของอินเดียมากกว่า 30 แห่ง มีสาขาในแคนาดา เท่ากับว่า ผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศต่างมีส่วน ในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกันและกัน ยิ่งไปกว่านั้น 33.8% ของสัดส่วนของนักเรียนและนักศึกษาต่างชาติราว 1 ล้านคนในแคนาดา เป็นชาวอินเดีย ตามข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการแคนาดา ซึ่งเปิดเผยเมื่อปี 2566

อย่างไรก็ตาม การที่นิจจาร์เป็นชาวซิกข์ และมีชื่ออยู่ในหมายจับของทางการอินเดีย ฐานเป็นผู้ก่อการร้าย จากการพยายามผลักดันก่อตั้งรัฐอิสระคาลิสถาน และการสมคบคิดฆาตกรรม ทำให้หลายฝ่ายจับตาไปที่การโยกย้าย และการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาวซิกข์จากอินเดีย ซึ่งยังคงเลือกแคนาดาเป็นปลายทางหมายเลขหนึ่ง เพื่อทำกิจกรรมหลายด้าน โดยส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่เรื่องการศึกษา และการลงทุน

สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของแคนาดาระบุว่า สัดส่วนประชากรชาวซิกข์ในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า ตลอดช่วงเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ครองสัดส่วน 2.1% ของประชากรแคนาดา ตามการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุด เมื่อปี 2564 และแคนาดาถือเป็นพื้นที่ของชุมชนชาวซิกข์ขนาดใหญ่ที่สุด รองจากอินเดีย

หากแคนาดายังคงเดินหน้าใช้มาตรการทางการทูตที่แข็งกร้าวกับอินเดียต่อไป แน่นอนรัฐบาลนิวเดลีตอบโต้ในระดับเดียวกัน หรือมากกว่านั้น จากกรณีซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว และเรื่องนี้จะกลายเป็น “เนื่องน่าปวดหัว” สำหรับมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ ที่ยังคงต้องพึ่งพิงบทบาทของอินเดีย ในการคานอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์กับจีนและรัสเซีย ในเวลาเดียวกับที่รัฐบาลนิวเดลีมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความมั่นคง ที่แนบแน่นกับทั้งจีนและรัสเซีย

ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับแคนาดา จากกรณีการเสียชีวิตของนิจจาร์ ที่กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง น่าจะช่วยเพิ่มความนิยมให้กับทรูโดในระยะสั้นเท่านั้น ว่าเป็นผู้มีความเด็ดขาดในการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศ ท่ามกลางวิกฤติการเมืองภายในที่รัฐบาลทรูโดตกเป็นเสียงข้างน้อย จากการที่หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว และพรรคเสรีนิยมของทรูโดพ่ายแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งที่เมืองโทรอนโต และเมืองมอนทรีออล

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างไร ยากที่บุคคลภายนอกจะรับรู้ อันที่จริงแล้ว อินเดียและแคนาดายังอยู่ในจุดที่สามารถประนีประนอมกันได้เสมอในเรื่องนี้ แต่การที่รัฐบาลออตตาวากลับเป็นฝ่าย “ออกตัวแรงก่อนอีกครั้ง” ในทางการเมืองระหว่างประเทศย่อมถือว่า ย่อมสะท้อนว่า “ไม่ต้องการเจรจา” เพราะถือว่าตัวเอง “เหนือกว่า”

อย่างไรก็ตาม การเดินเกมแบบ “วูบวาบ” เช่นนี้ จะรักษากระแสให้กับรัฐบาลทรูโด จนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ของแคนาดา ที่ตามกำหนดต้องเกิดขึ้นไม่เกินช่วงฤดูใบไม้ร่วง ของปี 2568 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า ผู้นำแคนาดาจะสามารถรับแรงเสียดทานจากอินเดียได้มากน้อยเพียงใด เพราะดูเหมือนในสายตาของรัฐบาลนิวเดลี ณ เวลานี้ ไม่ใช่การมองแคนาดา “ในระดับที่เป็นมิตร” อีกต่อไป.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP