กรณีพระนักเทศน์ชื่อดัง อย่างพระ ว.วชิรเมธี ที่มีภาพถ่ายกับเหล่าบอส THE iCON GROUP และยังมีภาพการรับเงินบริจาคถึง 1 ล้านบาท และยังมีคลิปขณะเทศน์ กล่าวว่า “อยากรวยเร็วก็ the icon แล้ว” ทำให้ถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่เหมาะสม ซึ่ง “ทนายนิด้า” ได้ออกมาชี้ถึงกรณี พระ ว. เทศน์ให้บริษัทดิไอคอนฟังนั้น ยังไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก “ทนายนิด้า” หรือ คุณศรันยา หวังสุขเจริญ ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงประเด็นดังกล่าวแบบร่ายยาวอีก ว่า ในส่วนของพระวอ จะเอาผิดในฐานะตัวการแชร์ลูกโซ่หรือผู้สนับสนุนในแชร์ลูกโซ่ ต้องพิสูจน์เจตนาพระวอ ให้ได้ว่าในขณะพระพูดนั้นพระทราบว่า the icon คือแชร์ลูกโซ่ หากพูดไปโดยไม่ทราบว่า the icon คือแชร์ลูกโซ่ ต่อให้มีลักษณะเชิญชวนมาเป็นครอบครัว the icon ก็ไม่อาจผิดได้เพราะขาดเจตนา ซึ่งการกระทำความผิดอาญานั้นจะขาดเจตนาไปไม่ได้เลย เว้นแต่กฎหมายจะระบุไว้เป็นอย่างอื่น

การที่พระวอ จะบอกว่าในขณะที่พูด ไม่มีเจตนาเพราะไม่รู้ว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ ก็ค่อนข้างมีน้ำหนักว่าไม่ทราบได้ เพราะขนาดคนมีสี ข้าราชการทหาร ตำรวจ หรือแม้แต่ครอบครัวนักกฎหมายเองบางคนควรรู้ยิ่งกว่ายังไม่รู้เลยว่ามีลักษณะลูกโซ่จริงและไปเป็นเครือข่ายอยู่ และความก็เพิ่งมาแตกว่าเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ เพราะเมื่อไม่นานมานี้มันมีคนมาให้ข้อเท็จจริงกันไปในทิศทางเดียวกันเป็นจำนวนมากออกสู่สาธารณะนี่เอง

ส่วนตัวไม่มองอะไรแบบไม่เป็นธรรม โดยจะไม่เอาความชอบหรือไม่ชอบมาบอกว่ากรณีใดเข้าข่ายผิดกฎหมายใดหรือไม่ผิด และไม่ยัดเยียดข้อเท็จจริงเกินไปกว่าความเป็นจริง แต่พิจารณาตามเหตุและผล และตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ

กรณีดังกล่าวพระวอเทียบได้กับพรีเซนเตอร์ที่ไม่ใช่ระดับบอสนะ

ในส่วนของบอสดารา ที่อ้างว่าเป็นพรีเซ็นเตอร์ด้วยและเป็นบอสด้วย จะมีหน้าที่ในการโปรโมทด้วย ชักชวนคน สนับสนุน the icon ต่อประชาชน เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกโดยมีวัตถุประสงค์คือผลประโยชน์จากส่วนแบ่งกำไรจากจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น จึงมีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่ยิ่งยวดขึ้นไปในการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงเกี่ยวกับระบบภายในของ the icon ว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีลักษณะฉ้อโกงหลอกลวงหรือไม่ กลยุทธ์ของบริษัทคืออะไร

ส่วนพรีเซนเตอร์สินค้า จะมีหน้าที่แค่โฆษณาตัวผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก ดังนั้นเพียงการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ปลอดภัย ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็พอจะมองว่าสุจริตได้แล้ว ไม่ถึงขนาดว่าต้องรู้ว่ากลยุทธของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์เป็นยังไง เพราะก็ไม่มีหน้าที่ชักชวนสมาชิกมาลงทุนและก็ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรจากค่าตัวที่แน่นอนการจะเอาผิดพรีเซ็นเตอร์ที่ถือผลิตภัณฑ์ของ the icon แล้วกล่าวหาว่าเป็นตัวการร่วมในขบวนการแชร์ลูกโซ่หรือผู้สนับสนุนจึงเห็นว่าไกลไป

กลับมาในส่วนของพระวอ การรับเงินบริจาค 1,000,000฿ ก็ยังไม่มีข้อเท็จจริงว่าเป็นส่วนแบ่งรายได้จากการที่พระวอ ชักชวนสมาชิก ข้อความที่ปรากฏไม่ว่าจะรวยเร็วก็ the icon แล่ว ส่วนการอวยยศ the icon หรือการกล่าวหาว่าคนไม่เปิดใจ ไม่ปรับมายด์เซ็ท ไม่ลงคอร์สอบรมคือดักดาน ก็ยังไม่ชัดแจ้งว่าเป็นคำชักชวน ยังไม่ถือเป็นการชักชวนโดยตรง แม้จะมีคำไม่เหมาะสม หรือไม่ใช่กิจของสงฆ์ก็เป็นคนละเรื่องกันกับคดีอาญา

ดังนั้นจึงเห็นว่าพระวอและดาราที่เป็นพรีเซ็นเตอร์เฉยๆ ยังไม่เข้าข่ายที่จะเป็นตัวการร่วมหรือผู้สนับสนุนแชร์ลูกโซ่ของ the icon นั่นเอง.