สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ว่ารายงานของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่ตีพิมพ์ร่วมกับโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และแก้ไขความยากจนแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด (โอพีเอชไอ) ย้ำว่า อัตราความยากจนในประเทศซึ่งอยู่ในภาวะสงครามนั้น สูงกว่าถึง 3 เท่า โดยปี 2566 เป็นปีที่เกิดความขัดแย้งมากที่สุดทั่วโลก นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

การประเมินรวบรวมข้อมูลจาก 112 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกัน 6,300 ล้านคน ใช้ตัวชี้วัด เช่น การขาดแคลนที่อยู่อาศัย, ระบบสุขาภิบาล, ไฟฟ้า, เชื้อเพลิงในการปรุงอาหาร, โภชนาการ และการเข้าเรียนในโรงเรียน

“รายงานของปี 2567 แสดงให้เห็นภาพประชากร 1,100 ล้านคน ที่กำลังทุกข์ทรมานกับความยากจนหลายมิติ และ 455 ล้านคน ในจำนวนนี้กำลังอยู่ท่ามกลางเงาของความขัดแย้ง” นายจาง หยานชุน หัวหน้านักสถิติของยูเอ็นดีพี กล่าว

เมื่อปีที่แล้ว ประชากร 1,100 ล้านคนจาก 6,100 ล้านคนใน 110 ประเทศ กำลังเผชิญกับความยากจนหลายมิติขั้นรุนแรง

ขณะเดียวกัน ประชากรอายุต่ำกว่า 18 ปี ราว 584 ล้านคน กำลังเผชิญกับความยากจนขั้นรุนแรง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.9 ของเด็ก ๆ ทั่วโลก ส่วนสถิติของผู้ใหญ่คิดเป็นร้อยละ 13.5

โดยที่ร้อยละ 83.2 ของประชากรที่ยากจนที่สุดในโลก อาศัยอยู่ในภูมิภาคใต้ทะเลทรายซาฮามาของทวีปแอฟริกา และเอเชียใต้

อินเดียเป็นประเทศซึ่งมีจำนวนประชากรยากจนมากที่สุด ส่งผลกระทบต่อประชากร 234 ล้านคน จากทั้งหมด 1,400 ล้านคน รองลงมา ได้แก่ ปากีสถาน, เอธิโอเปีย, ไนจีเรีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) โดยทั้ง 5 ประเทศนี้ มีจำนวนประชากรคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่ง ของประชากรยากจน 1,100 ล้านคนบนโลก.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES