เมื่อเวลา 08.40 น. วันที่ 18 ต.ค. 67 “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากนางกนกวรรณ จิ๋วเชื้อพันธุ์ ผอ.กองทัณฑวิทยา รักษาราชการแทน ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลาง และในฐานะรองโฆษกกรมราชทัณฑ์ ถึงสภาพอาการการนอนเรือนจำฯ คืนแรกของเหล่าผู้ต้องหาคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ทั้ง 17 ราย ทั้งในส่วนของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง ว่า คืนวานนี้ (17 ต.ค.) ภายหลังจากที่ราชทัณฑ์ได้ทำการรับตัวผู้ต้องหาทั้ง 17 ราย ในช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. ก็ได้มีการดำเนินการในส่วนของกระบวนการแรกรับ คือ ผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกรายจะต้องทำทะเบียนประวัติ ตรวจสุขภาพร่างกาย พิมพ์ลายนิ้วมือตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ และมีการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดสีลูกวัวสำหรับผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ก่อนนำตัวเข้าไปยังห้องกักโรคโควิด-19 เพื่อกักคัดกรองโรคในระยะเวลา 5 วัน อีกทั้งได้รับรายงานว่า ในบรรดาผู้ต้องขัง 17 รายนี้ มีคนที่มีโรคประจำตัว 5 ราย แต่เป็นอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ความดันโลหิตสูง 1 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างรอพบแพทย์ในช่วงเช้าวันนี้ เพื่อรับยาไปรับประทานรักษาอาการ นอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องขังหญิง 1 ราย ที่ได้ขออนุญาตแจ้งเรือนจำขอนำยารักษาโรคประจำตัวเข้ามา ทั้งนี้ ในส่วนของบอสดาราทั้ง 3 ราย คือ นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือบอสแซม นายกันต์ กันตถาวร หรือบอสกันต์ และ น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือโค้ชมิน ล้วนสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวหรืออาการเจ็บป่วยใด ๆ

รองโฆษกกรมราชทัณฑ์ เผยอีกว่า คืนวานนี้ทางเรือนจำทั้งสองแห่ง ได้มีการเตรียมอาหารไว้ให้เป็นเมนูข้าวสวยและต้มซุปไก่ เผื่อบุคคลใดยังไม่ทานข้าว แต่ก็ไม่มีใครรับประทาน อาจด้วยเวลาที่มาถึงก็ค่ำมากแล้ว และกว่าจะนอนหลับก็ล่วงเลยไปถึงเวลา 23.00 น. พร้อมยืนยันว่าในห้องกักโรคโควิด-19 ของทั้งสองเรือนจำฯ เจ้าหน้าที่ผู้คุมได้อนุญาตให้นอนอยู่ด้วยกันได้ เพราะเห็นว่าไม่มีพฤติกรรมทะเลาะเบาะแว้งหรือโทษกันไปมา มีการซัพพอร์ตเรื่องความรู้สึกกันได้ดี แต่ถ้ามีการทะเลาะกัน มีปากเสียง โยนความผิดโทษกันไปมา เจ้าหน้าที่จึงจะแยกไม่ให้อยู่ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม จากที่มอนิเตอร์ภาพกล้องวงจรปิด ในส่วนของดาราสาว “มิน พีชญา” ได้มีการพูดคุยกับเหล่าบอสผู้หญิงรายอื่นบ้าง ขณะที่ “กันต์ กันตถาวร” และ “แซม ยุรนันท์” ทั้งคู่มีการพูดคุยกัน แต่ไม่ได้คุยกับบอสชายรายอื่นมากเท่าไรนัก

เมื่อถามถึงหน้าตาและความเครียดของทั้งหมดเป็นอย่างไรบ้างนั้น รองโฆษกกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ยืนยันว่ามีความเครียดปรากฏบนใบหน้าอย่างเห็นได้ชัดเจน ไม่มีรอยยิ้ม และบ่อยครั้งมีการสนทนาระหว่างกันน้อยลง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกคนเข้ามาข้างในนี้ เป็นการเปลี่ยนสถานที่ อาจปรับตัวยากต้องใช้เวลา ส่วนประสิทธิภาพการนอนหลับ ทราบว่าพอนอนหลับได้บ้าง

ประเด็นเรื่องการตัดผมของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ทั้งผู้ต้องขังชายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงกลางนั้น รองโฆษกกรมราชทัณฑ์ แจงว่า ในส่วนของผู้ต้องขังชายจะต้องตัดรองทรงสูงทุกราย แต่ไม่สั้นมาก จะต่างจากผู้ต้องขังเด็ดขาดชาย แต่ผู้ต้องขังหญิง ราชทัณฑ์อนุโลมว่าต้องมัดรวบผมให้เรียบร้อย ส่วนถ้าความยาวของผมนั้นยาวมามากเกินไป ก็สามารถเล็มตัดความยาวออกได้ เพื่อสุขอนามัยที่ดี และป้องกันเรื่องผมร่วง

ส่วนกระบวนการและสภาพอาการของบรรดา 17 บอสในช่วงเช้าวันนี้ รองโฆษกกรมราชทัณฑ์ เผยว่า เช้าวันนี้ทั้งหมดได้อาบน้ำเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ต้องขังหญิงได้รับประทานเมนูอาหารเช้าเป็นข้าวต้มทรงเครื่อง และได้มีการสอบถามถึงหลักการขั้นตอนการเยี่ยมญาติ การซื้อของฝากของใช้ส่วนตัว การพบทนายความ ซึ่งราชทัณฑ์ก็ได้ชี้แจงข้อมูลให้ทั้งหมดรับทราบแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของ “มิน พีชญา“ ที่ได้สอบถามผู้คุมถึงเรื่องการเยี่ยมญาติ การพบทนายความปรึกษาคดี และการสั่งซื้อของฝากจากภายนอกผ่านใบรายการสั่งซื้อของเรือนจำฯ ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้รับรายงานเรื่องการเปิดสมุดบัญชีเงินฝากของเหล่าผู้ต้องขัง 17 ราย เพราะ ”บุ๊ก“ จะมีไว้เพื่อการฝากเงินของญาติให้แก่ผู้ต้องขังไว้ซื้อของกินของใช้ใด ๆ คาดว่าในช่วงสายวันนี้ อาจมีทนายเข้าเยี่ยม หรือมีญาติฝากซื้อของฝาก

รองโฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงการเยี่ยมของทนายความผ่านระบบออนไลน์ว่า คือ การเยี่ยมผ่านวิดีโอคอลไลน์ในห้องเยี่ยมทนาย ประมาณ 30 นาทีขึ้นไป เพราะทั้งหมดยังอยู่ในห้องกักโรคโควิด-19 จึงทำให้ผู้ต้องขังไม่ต้องเดินออกมาที่ห้องเยี่ยมดังกล่าว นอกจากนี้ เมื่อผู้ต้องขังทั้งหมดครบระยะเวลาการกักโรคโควิด-19 ก็จะถูกจำแนกไปยังแดนแรกรับของแต่ละเรือนจำฯ คาดว่าในส่วนของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แดนแรกรับอาจจะเป็นแดน 1 หรือแดน 4 แต่ในส่วนของทัณฑสถานหญิงกลาง จะเป็นแดนควบคุมระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งทั้งหมดจะใช้เวลาอยู่ในแดนแรกรับของเรือนจำฯ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินให้เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาด ทั้งนี้ ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี จะไม่ต้องเข้าร่วมกองงาน เพื่อที่จะได้มีเวลาในการต่อสู้คดี เพราะพวกเขายังต้องเข้าสู่กระบวนการชั้นศาล ยังไม่ได้เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาด เว้นแต่ว่าเป็นความประสงค์ของเจ้าตัวเอง ก็สามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ผู้คุม ให้มีการพิจารณาอย่างเหมาะสมได้.