หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.50% ต่อปี เป็น 2.25% ต่อปี ถือเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี โดยประเมินว่าจะช่วยบรรเทาภาระหนี้และไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้

Krungthai COMPASS ประเมินว่ายังคงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด อาจส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงิน รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า กระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อมากกว่าที่ กนง. คาด ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม

SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ มีมุมมองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาวะการเงินเป็นหลัก โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นการปรับลดเพื่อผ่อนคลายภาวะการเงิน ท่ามกลางภาวะสินเชื่อที่เติบโตชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อทยอยปรับด้อยลง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ภาวะการเงินตึงตัว จะส่งผลกดดันเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะต่อไป

ซึ่งสะท้อนในการสื่อสารของ กนง. รอบนี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพยายามรักษาสถานะความเป็นกลาง (Neutral stance) ของนโยบายการเงินไว้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ กนง. ประเมินว่ายังใกล้เคียงกับการประชุมครั้งก่อน และยังให้ความสำคัญปัจจัยเสถียรภาพระบบการเงินเช่นเดียวกับการประชุมครั้งก่อน ๆ

โดย กนง. มองว่าอัตราดอกเบี้ยควรมีบทบาทในกระบวนการ Debt deleveraging โดยไม่ควรต่ำเกินไปจนเป็นการกระตุ้นการก่อหนี้ครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว จึงทำให้จังหวะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับผลกระทบของภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมเศรษฐกิจเป็นหลัก

SCB EIC ประเมินว่าจะเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งภายในไตรมาส 1 ปี 2568 เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติม โดยภาพเศรษฐกิจและภาวะสินเชื่อชะลอตัวจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ความน่ากังวลของสถานการณ์จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า แต่จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโลกจะเริ่มผ่อนคลายลง

ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กนง. ล่าสุดลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ระดับ 2.25% ถือว่าสวนทางตลาดคาด โดยมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง ท่ามกลางคุณภาพสินเชื่อที่ปรับด้อยลง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี และครัวเรือนที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง

ซึ่งสะท้อนมุมมองว่า กนง. ให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กนง. มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงยังอยู่ในระดับที่เป็นกลาง และสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามมองว่าในการประชุม กนง. ครั้งหน้าในเดือน ธ.ค. 2567 แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ