เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 67 นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เปิดเผยต่อว่า ตนได้แถลงจุดยืนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และพรรคพลังประชารัฐ ที่ยืนยันคัดค้านการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ว่าจะกำหนดให้มีเงื่อนไขหรือไม่ก็ตาม เพราะประชาชนทั่วทั้งประเทศจำนวนมาก ยังมีความเห็นคัดค้านในการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากดำเนินการไป จะทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ขึ้นในสังคมอีกครั้งหนึ่ง และจะไม่สามารถทำให้เกิดความปรองดองในสังคมได้ ซึ่งจะทำให้สิ่งที่คณะกรรมาธิการวิสามัญดำเนินการมาทั้งหมดสูญหายไป ดังนั้น หลักการสำคัญที่สุดที่ทำให้ตนไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ คือ ยังมีประชาชนทั่วทั้งประเทศจำนวนมากที่มีความเห็นคัดค้านเรื่องนี้ จะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในสังคมกันอย่างมากมาย

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดมิได้” ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญา จึงมีการแยกหมวดความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีรัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้ โดยเฉพาะและมีบทบัญญัติในมาตรา 110 มาตรา 112 เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ จึงเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นกฎหมายคุ้มครองไม่ให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐ และเป็นสถาบันหลักของประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้เช่นนี้ และรัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองไว้อย่างชัดเจน จึงควรให้ผู้กระทำผิดถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม แต่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรานี้ จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 ซึ่งวินิจฉัยว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง

“ผมไม่เห็นด้วยว่าคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นคดีทางการเมือง เพราะเรื่องทางการเมืองจะต้องเป็นเรื่องระหว่างนักการเมืองด้วยกันหรือเกี่ยวข้องกับประชาชนที่มีอุดมการณ์คล้อยตามนักการเมือง หรือพรรคการเมือง ซึ่งสามารถมีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในคดีทางการเมืองได้ แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จะต้องพิจารณาเป็นอีกเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม มาตรา 1112 จึงจะมีผลกระทบรุนแรงต่อการปกป้องคุ้มครองสถาบันมากกว่าการแก้ไขมาตรา 112“ นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า พล.อ.ประวิตร มีนโยบายในการปกป้องสถาบันให้มั่นคงสถาพรตลอดไป เป็นที่ยึดมั่นศรัทธาของประชาชน ไม่ต้องการให้ผู้ใดกลุ่มบุคคลใดมากระทำการใด ๆ กระทบกระเทือนต่อสถาบัน ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในการออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น.