เมื่อวานนี้ (16 ต.ค. 67) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เซอร์ไพร้ส์! ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 2.25% ด้วยมติ 5 : 2 พร้อมคาดว่า จีดีพีไทยปี 2567-2568 จะเติบโต 2.7% และ 2.8% ตามลำดับ ภายใต้คาดการณ์ที่ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 36 ล้านคน และ 39.5 ล้านคน บนกรอบเงินเฟ้อทั่วไป 0.5% และ 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการประชุม กนง. รอบหน้า (18 ธ.ค. 67) จะมีการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

จากเรื่องนี้ หุ้นกลุ่มไหนได้ประโยชน์-เสียประโยชน์ ทาง “เดลินิวส์” จึงได้รวบรวมข้อมูลการวิเคราะห์ของแต่ละโบรกเกอร์มาฝาก

หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง

– กลุ่มการเงิน: จากต้นทุนส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยกู้ยืม โดยหุ้นที่ชอบคือ TIDLOR, MTC, SAWAD, JMT

– กลุ่มที่อยู่อาศัย: จะทำให้ต้นทุนผู้ซื้อลดลงส่งผลบวกต่อกำลังซื้อที่ดีขึ้น, rejection rate มีโอกาสลดลง รวมถึงต้นทุนดอกเบี้ยของผู้ประกอบการลดลง โดยบริษัทที่จะได้ประโยชน์มากสุดจากมี Backlog, โครงการพร้อมขาย รวมถึงอาจมี D/E ratio ที่สูง ได้แก่ SIRI, ORI, SPALI

– กลุ่มโรงไฟฟ้า: จากภาระทางการเงินลดลงและแรงกดดันจากผลตอบแทนโครงการในอนาคตที่น้อยลง หุ้นที่ชอบคือ BGRIM, GPSC

– กลุ่มที่มีหนี้สูง: จากภาระดอกเบี้ยที่ลดลง หุ้นที่ชอบคือ IVL

– กลุ่มท่องเที่ยว: จากภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ลดงลง ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง และจะช่วยจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้มากขึ้น โดย ERW จะมี upside ต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2025E สูงที่สุดในกลุ่มที่ +2.4% เพราะมีสัดส่วนเงินกู้ในไทยสูงที่สุดถึง 88% และเป็น Float rate ที่ 100%

– กลุ่มเกษตรและอาหาร: จากประโยชน์จากโอกาสที่เงินบาทอาจกลับมาอ่อนค่า หุ้นที่ชอบคือ AAI, ITC, TU

– กลุ่มธนาคาร แต่คาดว่าเป็นลบระยะสั้นโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากประจำตามมา แต่ในอัตราที่ไม่มากเท่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง จากการศึกษาพบว่าทุกๆ 0.25% ของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากประจำที่ปรับตัวลดลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์กำหนดให้ลดลงเพียง 0.10% จะกระทบกำไรสุทธิปี 2568 ของกลุ่มฯ ราว 6.3% จากคาดการณ์ปัจจุบัน โดย KTB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่กระทบมากที่สุด ตามด้วย BBL, KBANK, SCB ส่วน TISCO ได้รับผลบวกมากที่สุด ขณะที่ KKP, TTB แทบไม่ได้รับผลกระทบ