ใครจะไปรู้ว่า ก่อนจะมาเป็น รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) “พี่ต่อ – ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน” คือนักปลูกต้นไม้ตัวยง ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมายที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กว่า 200 ไร่ ของ พี่ต่อ – ดร.เฉลิมชัย นั้นเต็มไปด้วยต้นประดู่ป่า กระถินเทพณรงค์ พะยูง มะริด ฯลฯ เวลาว่างเว้นจากงานการเมืองหรือหลังการเลือกตั้งทุกครั้ง
พี่ต่อ – ดร.เฉลิมชัย จะใช้เวลาอยู่กับต้นไม้ ทั้งปลูก ทั้งดูแล ไม่เคยเงียบหายไปไหน

พี่ต่อ – ดร.เฉลิมชัย เป็นคนรักต้นไม้มาก ชอบปลูกต้นไม้หลากหลายชนิด มีหลายโครงการที่ทำไว้สมัยเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อได้มาเป็นรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พี่ต่อ- ดร.เฉลิมชัย ได้ให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้

“การปลูกต้นไม้นอกจากจะช่วยสร้างความชุ่มชื่น ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ยังสามารถได้คาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นการออมชนิดหนึ่ง ต้นไม้บางชนิดที่โตเร็วก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ขายได้ บางชนิด ก็ให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ต่อไป” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

นอกจากนั้นในพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 12,000 แห่ง ทั่วประเทศ พี่ต่อ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสนใจกับป่า ที่ชุมชน ดูแลรักษา สามารถใช้ประโยชน์ได้ ตาม พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 โดยมี คณะกรรมการช่วยกันดูแลและป่าชุมชนหลายแห่งสามารถเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนได้มาก ยกตัวอย่างเช่น ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ที่สามารถเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นป่าชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมสร้างการรับรู้ศักยภาพของป่าชุมชนในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก และขยายผล ส่งเสริมความร่วมมือภาคธุรกิจให้เข้ามาสนับสนุนป่าชุมชน โดยมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จำนวน 5,259 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า และสามารถเงินรายได้ของป่าชุมชนเข้าบัญชีทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนบ้านโค้งตาบางกว่าเจ็ดล้านบาท จะเห็นได้ว่าป่าชุมชนนอกจากเป็น แหล่งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และยังเป็นการอนุรักษ์ต้นไม้ และทรัพยากรธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

จากผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันปลูกต้นไม้ ไม้ว่าจะเป็นพื้นที่ของตนเอง พื้นที่สาธารณะประโยชน์หรือพื้นที่ป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดการชะลอของน้ำ ประชาชนสามารถรับแจกกล้าไม้ได้ฟรีที่ สถานีเพาะชำกล้าไม้ที่มีอยู่ทั้ง 77 จังหวัด และหน่วยงานที่สังกัดกรมป่าไม้ 139 หน่วย ทั่วประเทศ