“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานหนี้ครัวเรือนไทย เริ่มชะลอการเติบโตลงมานับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 โดยข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาสที่ 2/2567 ยอดคงค้างเงินกู้ยืมภาคครัวเรือนไทยอยู่ที่ 16.32 ล้านล้านบาท เติบโตเพียง 1.3% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ ธปท. เริ่มมีการเผยแพร่สถิติข้อมูลในปี 2546 และชะลอลงต่อเนื่องจากที่เติบโต 4.2% YoY ในไตรมาสที่ 3/2565 โดยการชะลอลงของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในช่วงดังกล่าว สะท้อน 4 เรื่อง หลักๆ ได้แก่

1.การทยอยหดตัวลงของหนี้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในประเภทหนี้ Big-Ticket Items ของครัวเรือน โดยหนี้เพื่อซื้อรถยนต์ฯ ของครัวเรือน หดตัวลง 5.8% YoY ในไตรมาสที่ 2/2567 ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่ลึกที่สุดนับตั้งแต่ฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนแบ่งตามวัตถุประสงค์การกู้เริ่มเผยแพร่ในปี 2555 และเป็นการหดตัวลงตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้รถยนต์ฯ ต่อหนี้ครัวเรือนไทย ลดลงมาอยู่ที่ 10.6% ในไตรมาสที่ 2/2567 จากที่เคยมีสัดส่วนประมาณ 11.5% ต่อหนี้ครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับภาพการหดตัวลงของตลาดรถยนต์ในประเทศ

2.สินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ของธนาคารพาณิชย์หดตัวลง ทั้งในส่วนของสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่และที่อยู่อาศัยมือสองทั้งแนวราบและอาคารชุด หลังมาตรการผ่อนปรน LTV สำหรับช่วงโควิด-19 สิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปี 2565 ขณะที่ ยอดคงค้างหนี้อสังหาริมทรัพย์ของภาคครัวเรือนที่ปล่อยโดยสถาบันการเงินทุกประเภท ชะลอลงจากที่เติบโต 5.3% YoY ไตรมาสที่ 3/2565 มาที่ 3.0% YoY ในไตรมาสที่ 2/2567 ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนแบ่งตามวัตถุประสงค์การกู้เริ่มเผยแพร่ในปี 2555 เช่นกัน

3.หนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น (ไม่รวมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล) ยังคงเร่งตัวขึ้น สวนทางกับหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ชะลอลง ซึ่งภาพดังกล่าวสะท้อนว่า ครัวเรือนยังพึ่งพาเงินกู้มาบริหารจัดการสภาพคล่องเพื่อกินเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน โดยยอดคงค้างหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น เร่งขึ้น 4.4% YoY ในไตรมาสที่ 2/2567 เทียบกับเติบโตประมาณ 2.1% YoY ไตรมาสที่ 3/2565 ขณะที่ยอดคงค้างหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัวเพียง 3.6% YoY ในไตรมาสที่ 2/2567 จากที่เคยโตถึง 15.5% YoY ในไตรมาสที่ 3/2565

4.ครัวเรือนเริ่มมีการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจมากขึ้นตลอดช่วง 3-6 ไตรมาสที่ผ่านมา อาทิ การกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ เติบโต 4.0% YoY ในไตรมาสที่ 2/2567 สูงกว่าการกู้ยืมผ่านแบงก์และ SFIs และการกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันที่ทำไว้ (เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง นำเงินบางส่วนมาหมุนใช้จ่ายโดยที่การคุ้มครองหลักจากกรมธรรม์ยังคงไว้อยู่ และไม่ต้องยกเลิกสัญญาของประกันที่ทำไว้) ซึ่งเติบโต 4.3% YoY ในไตรมาสที่ 2/2567 ขณะที่การกู้ยืมจากโรงรับจำนำเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 9.7% YoY ในไตรมาสที่ 2/2567

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากมองในภาพรวม หนี้สินของภาคครัวเรือนไทยในไตรมาส 2/2567 ซึ่งยังคงเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่าทางเศรษฐกิจที่วัดจาก Nominal GDP ส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ชะลอลงมาที่ระดับ 89.6% (ต่ำสุดในรอบ 4 ปี) จากระดับ 90.7% ในไตรมาสที่ 1/2567 ย้ำภาพการชะลอตัวต่อเนื่องหลังจากที่เคยปรับสูงขึ้นไปแตะ 95.5% ต่อจีดีพีในช่วงวิกฤติโควิด-19

หนี้ครัวเรือนไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปี 2567 โดยมีความเป็นไปได้ที่อัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนในปี 2567 จะต่ำกว่า 1.0% ซึ่งเป็นอัตราที่ช้ากว่า Nominal GDP เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่ยังมีสัญญาณฟื้นตัวช้าและผลกระทบต่อเนื่องจากช่วงโควิด-19 ล้วนเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของรายได้ภาคครัวเรือน ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อเนื่องต่อความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหม่ และความสามารถในการรับมือกับภาระหนี้ก้อนเดิม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทบทวนตัวเลขประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2567 จากคาดการณ์เดิมที่ 90.7% ลงมาที่กรอบ 88.5-89.5% ซึ่งแม้จะต่ำลงเมื่อเทียบกับระดับ 91.4% ต่อจีดีพีในปี 2566 แต่ก็ยังคงสูงกว่า 80.0% ต่อจีดีพี ซึ่งตามการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) พบว่า ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80.0% ต่อจีดีพีติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพของระบบการเงินได้

จากข้อมูลผลสำรวจหนี้สินครัวเรือนประจำไตรมาส 3/2567 จำนวน 963 ตัวอย่างทั่วประเทศโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ครัวเรือน/ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือนเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินที่เปราะบางและมีภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินเต็มมือ เพราะแม้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้จะมีหนี้ประมาณ 1-3 ก้อนใกล้เคียงค่าเฉลี่ย แต่ก็มีสัดส่วนการกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในระบบสูงกว่ากลุ่มระดับรายได้อื่น ขณะที่สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ก็ไต่ขึ้นไปสูงถึง 40.3% จึงทำให้มีเงินเหลือเก็บออมเพียง 10.5% เมื่อเทียบกับรายได้ต่อเดือน

ส่วนครัวเรือน/ผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 30,000-70,000 บาทต่อเดือน นั้น เป็นกลุ่มที่แม้จะสามารถดูแลจัดการกับภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีสัญญาณสะท้อนว่า กลุ่มนี้อาจเริ่มมีข้อจำกัดในการก่อหนี้ก้อนใหม่ เพราะหนี้เดิมส่วนใหญ่เป็นหนี้ในกลุ่ม Big-Ticket Items และผู้ตอบแบบสอบถามบางรายในกลุ่มนี้อาจมีหนี้มากกว่า 3 ก้อนพร้อมกัน จึงทำให้มีสัดส่วน DSR ขยับขึ้นไปที่ 40.8% โดยเฉลี่ย ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น และสำหรับครัวเรือน/ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีรายได้มากกว่า 70,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปนั้น น่าจะเป็นกลุ่มที่สามารถรับมือกับภาระหนี้ที่มีอยู่ได้ค่อนข้างดี สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินได้และมีเงินเหลือเก็บออมต่อเดือนสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

เมื่อเจาะลงไปถึงสาเหตุของการก่อหนี้ในแต่ละกลุ่มรายได้ พบว่า ครัวเรือน/ผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในกลุ่มรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่ประมาณ 46% (ค่าเฉลี่ยของกลุ่มรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มรายได้มากกว่า 15,000-30,000 บาทต่อเดือน) เป็นหนี้เพราะเหตุจำเป็น เช่น รายได้ไม่เพียงพอรองรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และ/หรือมีปัญหาด้านสภาพคล่อง-เงินออมต่ำ ทำให้ไม่สามารถหมุนเงินได้ทันในระยะสั้นเมื่อมีเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงิน ดังนั้น กลุ่มรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน จึงเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อรายได้มากกว่าลูกหนี้กลุ่มอื่น