เมื่อวันที่ 15 ต.ค. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า จากการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบทำให้กรมชลประทานสามารถปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้อย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ (15 ต.ค.) จะมีการปรับลดการระบายน้ำ 2 ครั้ง รวม 100  ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ซึ่งจะทำให้การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเหลือ 1,550 ลบ.ม.ต่อวินาที จากที่เคยระบายน้ำสูงสุดที่ 2,200 ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนลดลงจากระดับสูงสุดที่ 15.10 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เหลือ 13.18 ม.รทก. หรือลดลงมาแล้วเกือบ 2 เมตร และจะมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมศปช.ในวันนี้ ได้เชิญตัวแทน 9 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กรุงเทพฯ มาร่วมหารือสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ พร้อมรับฟังแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ ซึ่งในภาพรวมทุกจังหวัดระบุตรงกันว่าการบริหารจัดการน้ำปีนี้ทำได้ดี ทำให้พื้นที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาด อย่างไรก็ตามประเมินว่าทุกพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม จะเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในสิ้นเดือนนี้ ยกเว้น จ.พระนครศรีอยุธยา ที่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในเดือน พ.ย.นี้ ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แจ้งที่ประชุมว่าสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง คาดว่าจะปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เหลือ 700 ลบ.ม.ต่อวินาทีได้ ภายในวันที่ 27 ต.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ที่ต่ำที่สุดของลุ่มเจ้าพระยา เช่น คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ตลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบแรกๆ จะคลี่คลายในไม่ช้า

นายจิรายุ กล่าวว่า สำหรับฝนที่ตกต่อเนื่องในภาคใต้ ทำให้มีพื้นที่เสี่ยงดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 15-16 ต.ค. ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.ภูเก็ต (เมืองภูเก็ต กะทู้ ถลาง), จ.กระบี่ (เมืองกระบี่ เขาพนม เกาะลันตา), จ.ตรัง (ย่านตาขาว ปะเหลียน ห้วยยอด นาโยง), จ.สตูล (ควนโดน ควนกาหลง ละงู ทุ่งหว้า มะนัง), จ.พัทลุง (กงหรา ศรีบรรพต ศรีนครินทร์ เขาชัยสน ตะโหมด ควนขนุน), จ.สงขลา (หาดใหญ่ สะบ้าย้อย จะนะ นาทวี รัตภูมิ สะเดา), จ.ปัตตานี (โคกโพธิ์ หนองจิก ปานาเระ มายอ ทุ่งยางแดง สายบุรี ยะรัง), จ.นราธิวาส (บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ ศรีสาคร แว้ง สุคิริน สุไหงปาดี จะแนะ เจาะไอร้อง) และ จ.ยะลา (เบตง ธารโต กาบัง บันนังสตา ยะหา รามัน กรงปินัง)

“พื้นที่เสี่ยงทั้ง 9 จังหวัดในภาคใต้ กรมทรัพยากรธรณีได้ประสานอาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงทุกช่องทาง ทั้งทางโทรศัพท์ กลุ่มไลน์เครือข่าย และช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมสำหรับให้ความช่วยเหลือทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุ” นายจิรายุ กล่าว

นายจิรายุ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการช่วยเหลือฟื้นฟูที่ จ.เชียงราย ว่า การดำเนินการฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงราย มีเป้าหมาย 1,367 ครัวเรือน ดำเนินการแล้ว 1,339 ครัวเรือน อยู่ระหว่างดำเนินการ 28 ครัวเรือน คิดเป็น 98 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เฟส 2 มีเป้าหมาย 819 ครัวเรือน ดำเนินการแล้ว 745 ครัวเรือน อยู่ระหว่างดำเนินการ 74 ครัวเรือน คิดเป็น 91 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การจัดการขยะมูลฝอยที่เกิดจากอุทกภัย ใน จ.เชียงราย พบว่าในพื้นที่ อ.เมือง และเทศบาลนครเชียงราย จ.เชียงราย เก็บขยะไปแล้ว 69,000 ตัน คิดเป็น 98.75 เปอร์เซ็นต์ เหลือขยะตกค้าง 1,000 ตัน และได้ปิดจุดพักขยะบริเวณหลังร้านเดอะมูน ถนนพหลโยธินแล้ว เหลือจุดพักขยะบริเวณดอยสะเก็น ซอย 3 ถนนเวียงบูรพา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้ ส่วนการจัดการขยะมูลฝอย ที่ อ.แม่สาย ดำเนินการเก็บขยะไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 5,400 ตัน คิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ คงเหลือปริมาณขยะตกค้าง 600 ตัน และมีขยะตกค้างใน 5 ชุมชน คือชุมชนเหมืองแดง ชุมชนเกาะทราย ชุมชนสายลมจอย ชุมชนไม้ลุงขน และชุมชนถ้ำผาจม ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นตามแผนที่กำหนดไว้ตามเดิม ในวันที่ 21 ต.ค. นี้