ผลการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ของ แมทเทรสเน็กซ์เดย์ บริษัทจำหน่ายเครื่องนอนชื่อดังของอังกฤษเผยว่า มีคนจำนวนมากที่เข้านอนพร้อมกับโทรศัพท์มือถือและสมาร์ตวอทช์ ส่วนผลการสำรวจของ ยูกอฟ บริษัทวิจัยตลาดชื่อดังก็ระบุว่า มีชาวอังกฤษจำนวนมากถึง 50 ล้านคนที่เข้านอนโดยยังคงใช้โทรศัพท์มือถือทั้งที่อยู่บนเตียงแล้ว คิดเป็น 74% ของผู้ตอบคำถามทั้งหมด

เมื่อเราใช้โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ตโฟน หน้าจอของโทรศัพท์จะส่งแสงสีฟ้าออกมา ทำให้สมองของเราเชื่อว่าเป็นเวลาที่ควรตื่นนอน ไม่ใช่เข้านอน ซึ่งส่งผลให้ร่างกายของเรารู้สึกตื่นตัวและกระฉับกระเฉง แต่กลับกลายเป็นปัญหาเมื่อเราใช้โทรศัพท์มือถือก่อนนอน เพราะนั่นคือเวลาที่เราควรพักผ่อน

แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าคือเรื่องของสุขอนามัย มีข้อมูลรวบรวมไว้ว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เราจะสัมผัสหน้าจอโทรศัพท์มือถือไม่ต่ำกว่า 2,600 ครั้งต่อวัน ซึ่งส่งผลให้อุปกรณ์ชิ้นนี้สกปรกได้อย่างรวดเร็ว

จากกรณีศึกษาของมหาวิทยาลัยแอริโซนา ปุ่มต่าง ๆ บนสมาร์ตโฟนของคุณอาจมีแบคทีเรียเกาะอยู่มากกว่าที่นั่งบนโถชักโครกถึง 10 เท่า ส่วนกรณีศึกษาของแมทเทรสเน็กซ์เดย์ก็สำรวจพบว่า มีคนมากกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้ร่วมการสำรวจ ไม่เคยทำความสะอาดสมาร์ตโฟนเลย จึงกลายเป็นว่า ทั้งสมาร์ตโฟนและสมาร์ตวอทช์ต่างก็มีแบคทีเรียสะสมอยู่เป็นจำนวนมหาศาล 

แบคทีเรียชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในอุปกรณ์เหล่านี้คือ Pseudomonas aeruginosa ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดการติดเชื้อได้และเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยจะทำให้ผิวหนังมีอาการระคายเคือง หรือรบกวนการนอนหลับถ้าหากเข้านอนพร้อมสมาร์ตโฟนในมือ

ข้อมูลที่น่ากังวลอีกประการก็คือ แบคทีเรียชนิดนี้สามารถพบได้ในมูลแมลงสาบด้วย ซึ่งหมายความว่ามีสิ่งที่สกปรกเทียบเท่ากับมูลแมลงสาบที่สัมผัสกับใบหน้าของเราเมื่อเรารับสายโทรศัพท์ หรือติดมือเรามา เมื่อเรากดหน้าจอเพื่อเปิดดูข้อความหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ 

สิ่งที่ควรทำเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสแบคทีเรียนี้ก็คือ ต้องทำความสะอาดสมาร์ตโฟนอย่างสม่ำเสมอ ควรใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดที่มีแอลกอฮอล์และเครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสียูวี

ถ้าหากติดนิสัยการเข้านอนพร้อมโทรศัพท์มือถือหรือมักจะชอบวางโทรศัพท์ไว้ใต้หมอน ก็ควรซักปลอกหมอนอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ความจริงแล้ว ไม่ควรทิ้งโทรศัพท์มือถือไว้บนเตียงซึ่งมีไออุ่นจากตัวซึ่งทำให้เตียงมีอุณหภูมิที่พอเหมาะต่อการขยายพันธุ์ของแบคทีเรีย

นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการนำโทรศัพท์มือถือมาสัมผัสใบหน้าและใช้โทรศัพท์ให้น้อยลงก่อนเวลาเข้านอน 

มาร์ติน ซีลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับและซีอีโอของแมทเทรสเน็กซ์เดย์กล่าวว่า “โปรดจำไว้ว่าเตียงของคุณควรเป็นสถานที่พักผ่อน ไม่ใช่จานเพาะเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ”

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES