นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) จำนวน 2,353 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นัดแรก ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง 4 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ มีตนเป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการพิจารณาพัฒนาศักยภาพพื้นที่บริเวณชุมชนคลองเตย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน มีนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการ รมว.คมนาคม เป็นประธาน

3.คณะอนุกรรมการจัดระเบียบด้านการจราจร และสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) อย่างยั่งยืน มีนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธาน และ 4.คณะอนุกรรมการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในท่าเรือกรุงเทพ และการประชาสัมพันธ์ มีนายกฤชนนท์ อัยยปัญญา โฆษกกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ทั้งนี้ผู้ที่อยู่ในคณะอนุกรรมฯ จะประกอบด้วยบุคคลจากหลายส่วน อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านในชุมชน โดยที่ประชุมได้เน้นย้ำให้นำข้อเรียกร้อง และข้อเสนอต่างๆ ของชาวชุมชนย่านคลองเตยทั้ง 26 ชุมชน มาหารือด้วย ก่อนเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาต่อไป

นางมนพร กล่าวอีกว่า ชาวชุมชนคลองเตยไม่ขัดข้องเรื่องการพัฒนาพื้นที่คลองเตย แต่ขอให้พิจารณาจัดสรรที่อยู่อาศัยให้กับชาวชุมชนคลองเตยด้วย จำนวน 1 ใน 5 ของพื้นที่ท่าเรือคลองเตย คิดเป็นประมาณ 20% หรือประมาณ 500 ไร่ เพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ก็ได้จัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัยอยู่แล้วประมาณ 270 ไร่ อย่างไรก็ตามสำหรับแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย ยังเป็นไปตามแผนเดิมที่จะพัฒนาพื้นที่ชุมชนคลองเตยให้เป็น Smart Community เพื่อสร้างศักยภาพการใช้พื้นที่ให้เกิดมูลค่าสูงสุด และไม่มีการย้ายท่าเรือขนส่งสินค้าแต่อย่างใด

นางมนพร กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมองว่าแผนเดิม ซึ่งศึกษามาตั้งแต่ปี 62 ยังไม่เป็นปัจจุบัน จึงมีมติเห็นชอบให้ กทท. ศึกษาเพิ่มเติม โดยว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาทบทวนแนวทาง และแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ รวมถึงแนวทางการรื้อย้ายและเยียวยาให้กับชุมชนคลองเตยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน และแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการจราจร และสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรองท่าเรือกรุงเทพ อย่างยั่งยืน แต่ยืนยันว่าจะไม่ทิ้งหลักการเดิม ที่จะเป็นโครงการพัฒนาแบบผสมผสาน (มิกซ์ยูส) อาทิ พื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย พื้นที่สีเขียว และการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ ทั้งนี้เบื้องต้นคาดว่าประมาณ 1 ปี จะได้ข้อสรุปถึงแนวทางการพัฒนาท่าเรือคลองเตยที่ชัดเจน ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า ยืนยันว่าการพัฒนาท่าเรือคลองเตยที่หารือครั้งนี้ ยังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่อง Entertainment Complex เป็นคนละเรื่องกัน เรื่องนี้ยังต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี กว่ากฎหมายจะแล้วเสร็จ และปัจจุบันก็ยังไม่มีการกำหนดด้วยว่าจะใช้พื้นที่ใดในการดำเนินโครงการ Entertainment Complex ด้วย.