สืบเนื่องจากกรณีดังมีผู้เสียหายบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำนวนมากอ้างถูกชักชวนร่วมลงทุนก่อนสูญเงินจำนวนมากนั้น ผู้สื่อข่าวรายงาน ย้อนไปตั้งแต่ปี 2561 สมัย พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ เป็น ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เคยทำเอกสารรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของบริษัท ดิไอคอนฯ โดยส่งถึงเลขาธิการ สคบ. ขณะนั้นคือ พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์

เนื้อหาเป็นการรายงานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่มีประชาชนแจ้งเบาะแสให้ตรวจสอบพฤติกรรมการประกอบธุรกิจของบริษัท ดิไอคอนฯ ว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 หรือเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นหรือไม่

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบ บริษัท ดิไอคอนฯ จดทะเบียนนิติบุคคล วันที่ 1 มิ.ย. 2561 มีกรรมการบริษัทเพียงคนเดียวคือ นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล และมีการยื่นขอหารือลักษณะการประกอบธุรกิจเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2561 ตามรายงานการขอหารือรูปแบบประกอบธุรกิจ

กองคดีคุ้มครองผู้บริโภคฯ พิจารณาแล้วพบว่าบริษัท ดิไอคอนฯ ประกอบธุรกิจลักษณะเป็นการขายส่ง ขายปลีกให้สมาชิก มิใช่การทำตลาดในลักษณะการเสนอขายสินค้าโดยตรงไปยังผู้บริโภค จึงไม่ใช่การประกอบธุรกิจขายตรงตามนิยามมาตรา 3 ที่จะต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545

นอกจากนี้ ยังส่อพฤติกรรมผิดปกติ เช่น ลักษณะการโฆษณาคุณภาพหรือสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่เป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณ อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร, ไม่มีการนำภาพหรือข้อความโฆษณาเพื่อประโยชน์ทางการค้ามาให้ผู้อนุญาตตรวจก่อนโฆษณา เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และพฤติกรรมอาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

จึงเสนอส่งเรื่องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาเกี่ยวกับการโฆษณา, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พิจารณาว่าเข้าข่ายธุรกิจแชร์ลูกโซ่หรือไม่ เบื้องต้น เลขาธิการ สคบ.ขณะนั้นลงนามเห็นชอบตามรายงานข้อเท็จจริงฉบับดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ปี 2561 ต่อมาไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการใดๆ กระทั่งบริษัท ดิไอคอนฯ เติบโตและกลับมาตกเป็นข่าวดังในปัจจุบัน ที่พบมีผู้เสียหายจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ.