เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่บริเวณลานกิจกรรม อาคาร 90 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติและแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสที่สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีมติมอบปริญญา “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพลังงานและสิ่งแวดล้อมชุมชน” ในกิจกรรมบัณฑิตานุสรณ์ ประจำปี 2567 โดยมี ดร.สว่าง ภู่พัฒนวิบูลย์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ รศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คณบดี หัวหน้าหน่วยงาน คณาจารย์ บัณฑิต และนักศึกษา ร่วมในกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

ดร.สว่าง ภู่พัฒนวิบูลย์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีต่อ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ผู้บุกเบิกการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชุมชนเป็นคนแรกของประเทศไทย รวมถึงมหาบัณฑิต และบัณฑิตทุกท่าน ในการที่สำเร็จการศึกษา และขอให้ทุกท่านได้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน โดยขอให้ยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตในการที่จะประกอบอาชีพใดใดในอนาคต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชีวิตตนเองและประเทศชาติ

ด้าน รศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล กล่าวแสดงความยินดีต่อ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพลังงานและสิ่งแวดล้อมชุมชน มหาบัณฑิต และบัณฑิตทุกท่านที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ขอให้นำความรู้ความสามารถไปพัฒนาตนเองและประเทศชาติให้มั่นคงยั่งยืนสืบไป

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า ขอบคุณท่านนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ที่ได้พิจารณามอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพลังงานและสิ่งแวดล้อมชุมชนให้กับตนในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รายแรกของประเทศไทย ซึ่งตนเองนั้นมี Passion ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และได้มุ่งมั่นทุ่มเททุกสิ่งอย่างกระทั่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาองค์การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการพัฒนาชุมชนขนาดใหญ่แบบเชื่อมต่อกับสายส่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยจนได้รับรางวัลและได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ให้เป็นสตรีผู้นำในการพัฒนาพลังงานสะอาด (Leading a Woman Powered Solar Energy Transformation) เมื่อปี พ.ศ.2557 ณ กรุงเปรู ประเทศลิมา

ดร.วันดี กล่าวต่ออีกว่า ขอแสดงความยินดีกับมหาบัณฑิต และบัณฑิตทุกท่าน เนื่องในโอกาสจบสำเร็จการศึกษา ทั้งนี้ ตนมีความภาคภูมิใจกับทุกท่านด้วยความหมายของสถาบัน “ราชภัฏ” นั้น คือ ผู้ที่มีความใกล้ชิดต่อพระมหากษัตริย์ อีกทั้งสถาบันนี้ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานชื่อจากวิทยาครูเป็นสถาบันราชภัฏ และพระราชทานพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ให้เป็นตราของมหาวิทยาลัย นับเป็นศิริมงคลยิ่งต่อนักศึกษาและคณาจารย์ทุกท่าน

“ตนได้น้อมนำแนวพระราชดำรัส “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นหลักในการทำงานจนนำมาซึ่งความสำเร็จของงานทั้งปวง อีกทั้งได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง“ ด้วยการที่มีแนวทางในการทำงานและใช้ชีวิตว่า “เมื่อลงมือทำงานใด ๆ หากพบสิ่งใดที่ผิด ก็ไม่กลัวที่ต้องแก้ไข ยิ่งแก้ไขได้เร็ว ก็จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้เร็วเช่นกัน” อีกทั้งจะทำงานใด ๆ ให้สำเร็จ เราต้องมีทัศนคติเชิงบวก มีความรู้ความสามารถในการนั้น และสุดท้ายต้องมีความเพียรพยายาม ก็จะเดินทางไปสู่ความสำเร็จแน่นอน” ดร.วันดี กล่าวในช่วงท้าย