ประกอบกับการที่ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก การกลับมาให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาและฝีมือของช่างชุมชนจึงกลายเป็นกระแสที่น่าสนใจ “นวัตกรรมช่างชุมชน” ไม่ได้เป็นเพียงแค่การสร้างสรรค์สิ่งของ แต่ยังเป็นการผสมผสานระหว่างความรู้ท้องถิ่น ประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

แม้การส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชนจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากช่างชุมชนส่วนใหญ่อาจไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทว่าหากสังคมหันมาให้ความสำคัญกับสิ่ง  นี้อย่างจริงจัง นวัตกรรมดังกล่าวก็อาจเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและสังคมในระดับท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

โชว์ 12 ไอเดียช่างชุมชน

การพัฒนาและสนับสนุนช่างฝีมือในชุมชน ไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดยุคใหม่เท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น การส่งเสริมนวัตกรรมในกลุ่มช่างชุมชนจึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ สร้างอาชีพ และเสริมศักยภาพให้ชุมชน
มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่รวดเร็ว

สอดคล้องกับการที่ “บริษัท ช.การช่างจำกัด (มหาชน)” ได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าว จึง ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันเชนจ์ฟิวชัน (Change Fusion) ภายใต้มูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อน “โครงการสุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน” ซึ่งเป็นการประกวดนวัตกรรมช่างชุมชนจากทั่วประเทศ ต่อเนื่องมาจนถึงปีที่ 4 โดยล่าสุด ได้มีการจัดงาน “การแสดงผลงาน และมอบทุนสนับสนุนสุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน ปี 4” ให้กับ 3 สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน จาก 12 ราย 12 ผลงาน และ 12 แนวคิด เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาผลงานในระยะขยายผลต่อไป

นาคกี้ช่วยเด็กยากไร้

สำหรับ 3 สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน ที่ได้รับการคัดเลือกในปีนี้ ได้แก่ 1. ช่างหัตถกรรมและศิลปะ “นาคกี้” พญานาคร่วมสมัย โดย “พระมหาศรายุทธ อัคคธัมโม” กลุ่มวิสาหกิจชุมชน นาคกี้เพื่อสังคม จังหวัดบึงกาฬ เป็นนวัตกรรมและการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ออกแบบตามเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งที่พญานาคหดตัวลงไปอยู่ในบาตรพระ จนเป็นที่มาของกระปุกออมสินเซรามิก “นาคกี้” (พญานาคตัวเล็ก) ผลิตจากดินร่วนปนทรายสีแดงและดินเหนียวสีดำ ที่ขุดจากในพื้นที่ 70% ผสมกับดินลำปาง 30% ผสมให้เข้ากันก่อนเทลงแม่พิมพ์ และนำไปเข้าเตาเผาที่ 1,100 ํC ปล่อยให้เย็นลงแล้ว จึงนำมาพ่นสี จากนั้นจึงพัฒนาไปเป็น “นาคกี้สายมู” ที่มีลวดลายเพิ่มขึ้นตรงกับความนิยมของคนที่จะนำไปบูชา ทั้งยังต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ อาทิ ชามนาคกี้, นาคกี้ไฟเบอร์กลาส สำหรับวางประดับในอาคาร ไปจนถึงนาคกี้ปูนปั้น สำหรับตกแต่งสวนกลางแจ้ง เหล่านี้สามารถสร้างทักษะอาชีพและรายได้ให้กับเด็กยากไร้และขาดแคลนทุนทรัพย์ที่ทางวัดรับอุปการะไว้ให้บวชเป็นสามเณร ราว 40 ราย รวมถึงเป็นการส่งเสริมช่องทางการหาเงินทุนสะสมเพื่อใช้ในด้านการศึกษา, ค่าอาหาร, และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ ที่อยู่ในการดูแลของทางวัดอีกด้วย

หัวลากวีลแชร์สะดวกขึ้น

2. ช่างเครื่องมือและเครื่องจักร “หัวลากรถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้า” โดย “ปิญา ศิริบุญ” จังหวัดสมุทรสาคร เป็นนวัตกรรมและการออกแบบวีลแชร์ไฟฟ้า ที่สะดวกต่อการนำออกไปใช้งานและจัดเก็บในพื้นที่จำกัดได้ ซึ่งมีด้วยกัน 2 รุ่น โดยแบ่งตามสภาพพื้นที่การใช้งานของผู้พิการ คือ รุ่น ล้อ 10 นิ้ว สำหรับใช้บนถนนเรียบ และ รุ่นล้อ 14 นิ้ว สำหรับใช้ในพื้นที่ถนนขรุขระ ใช้ขับได้ไกลถึง 20 กม. ยึดติดและถอดออกจากรถเข็นได้ง่าย เดินหน้า-ถอยหลัง, ไฟหน้า, ความเร็ว 30 กม.ต่อชม. ทั้งยังมีการพัฒนาระบบขับเคลื่อนสองล้อหน้า เพื่อลดการสั่นสะเทือนและเพิ่มแรงในการลากสำหรับผู้ใช้ที่มีนํ้าหนักตัวมาก ได้พัฒนาล้อขับเคลื่อนที่ติดตั้งด้านหลังรถเข็น ด้วยการใช้รีโมตควบคุม เพื่อให้สะดวกต่อการเคลื่อนตัวไปด้านหน้า ทั้งนี้นวัตกรรมดังกล่าวสามารถช่วยลดภาระของผู้ดูแลในการเข็นรถผู้พิการและทำให้ผู้พิการมีอิสระในการเดินทางด้วยตนเองได้อย่างสะดวกมากขึ้น

กว้านดึงอวนทุ่นแรง

และ 3. ช่างเครื่องมือและเครื่องจักร “กว้านดึงอวน” โดย “กฤษดา ศรีทอง” ชุมชนประมงพื้นบ้าน ตำบลห้วยยาง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นนวัตกรรมและการออกแบบกว้านขนาดเล็ก ที่ส่งกำลังด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 8 แรง และเบนซิน 5 แรง สายพานหันออกนอกตัวเรือเพื่อให้ปลอดภัยในการใช้งาน ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยทุ่นแรงในการดึงอวน จากที่ปกติจะต้องใช้แรงงานคน ประมาณ 2-4 คน ลดให้เหลือเพียง 1-2 คน ซึ่งจะทำให้แรงงานมีเวลาเหลือในการคัดปลาขณะดึงอวนได้มากขึ้น ทั้งยังพัฒนาระบบความปลอดภัยในการใช้งาน และปรับปรุงให้สามารถใช้งานกับมอเตอร์ไฟฟ้าได้มีอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับการใช้งานร่วมกับอวนปลาทู และอวนปู กว้านดึงอวนที่ว่านี้ นอกจากจะช่วยในการผ่อนแรงได้แล้ว ยังสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกลุ่มประมงพื้นบ้าน และประมงขนาดเล็ก รวมถึงลดการบาดเจ็บจากการดึงอวน ทำให้มีความปลอดภัยในการทำงานมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ “โครงการสุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน” เกิดจากแนวคิดการสร้างเสริมให้คนในชุมชนพัฒนานวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาภายในชุมชนของตนเอง โดยใช้ประสบการณ์ ความคิด และวัตถุดิบที่หาได้จากในท้องถิ่นของตนเอง มาพัฒนาเป็นสิ่งประดิษฐ์สุดสร้างสรรค์ ที่คนในชุมชนสามารถเข้าถึงได้ ส่งต่อ เผยแพร่และขยายผลสู่วงกว้างได้ง่าย และจากการสำรวจและสัมภาษณ์เบื้องต้น พบว่า ช่างชุมชนจำนวนมากมักจะพึ่งพาประสบการณ์ และทักษะในงานช่างของตนเองเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยได้แนวความคิดใหม่มาจากการพบเห็นเครื่องมือแบบใหม่หรือเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัล นำมาประยุกต์ดัดแปลงเป็นเครื่องมือ   ในรูปแบบของตนเองที่ต้นทุนในการสร้างตํ่ากว่า เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการใช้งานในแต่ละท้องถิ่น สามารถจัดจำหน่ายได้ในราคาไม่สูง และเผยแพร่ในเชิงสาธารณประโยชน์ต่อชุมชนได้อย่างกว้างขวาง

ช่างชุมชนสนับสนุนโอกาส

นอกจากนี้ โครงการฯ ได้ดำเนินการออกแบบวิธีการสร้างเสริมนวัตกรรมของช่างชุมชนที่เหมาะสม เพื่อลดข้อจำกัดและขยายศักยภาพการพัฒนาแนวทางการทำงานของ “ช่างชุมชน” โดยรับสมัครและคัดเลือกจากการสัมภาษณ์ และเดินทางไปเยี่ยมชมผลงานถึงพื้นที่การทำงานของช่าง เพื่อประเมินศักยภาพจากความแนวคิดหรือไอเดียใหม่ ๆ การขยายผลนวัตกรรม และผลกระทบทางสังคม จากนั้นจึงจะคัดเลือกช่างที่มีศักยภาพเพื่อรับทุนสนับสนุนเบื้องต้น พร้อมกับการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิควิศวกรรม, ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์, ด้านการจัดการ และด้านการตลาด ก่อนที่จะมีการติดตามการพัฒนาต่อยอดเพื่อหาแนวทางการสนับสนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมของช่างชุมชนต่อไป.

ติดตามและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook Page: ช่างชุมชน ช.การช่าง
Line Official: @localinnovator ช่างชุมชน ช.การช่าง