กรณีบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด – The iCon Group Co., Ltd. ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพและความงาม ถูกผู้เสียหายกว่า 500 ราย มูลค่าความเสียหาย 118 ล้านบาท เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทและกรรมการต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. ให้ตรวจสอบว่าบริษัทฯ เข้าข่ายกระทำความ ผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 รวมทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบการครอบครองทรัพย์สินมูลค่าสูงของบรรดาผู้บริหารบริษัทฯ ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ยอมแพ้มานานแล้ว! ‘บอสพอล’ ร่ำไห้กราบผู้เสียหาย ลั่นขอชดใช้จนกว่าจะตาย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. ว่า สำนักงาน ปปง. กำลังจะมีการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมในวันพฤหัสบดีที่ 17 ต.ค. นี้ เวลา 13.30 น. โดยวาระสำคัญของการประชุมจะเกี่ยวกับการดำเนินการทางทรัพย์สินของ 2 คดีสำคัญ คือ คดีบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด และคดีทอง 99.99% หรือคดีของ น.ส.กรกนก สุวรรณบุตร (แม่ตั๊ก) และนายกานต์พล เรืองอร่าม (ป๋าเบียร์) เนื่องจากคณะกรรมการธุรกรรม มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลสำนักงาน ปปง. เพื่อตรวจสอบธุรกรรม หรือรายการทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนั้น กรณีคดีของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ถือเป็นเรื่องราวที่สังคมให้ความสนใจอย่างยิ่ง ตนจึงได้เตรียมเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อขอให้ที่ประชุมมีมติให้ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินในเชิงลึก นอกจากนี้ ขอบเขตการตรวจสอบเรื่องทรัพย์สิน ปปง. จะทำการตรวจสอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินของนิติบุคคล หรือบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนธุรกิจ เพราะ ปปง. ได้มีการประสานข้อมูลอย่างใกล้ชิดกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. รวมทั้งยังประสานงานกับ สคบ.

นายเทพสุ เผยอีกว่า สำหรับกรณีของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด จากแนวทางการทำงานสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจากรายงานข่าวสารสื่อมวลชน พบว่าเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ส่วนมูลค่ารายการทรัพย์สินที่ ปปง. จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อตรวจสอบก่อนมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์ จะเป็นรายละเอียดตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. จะได้ประสานข้อมูลรายงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงาน เช่น พบพฤติการณ์การกระทำความผิดมูลฐาน จากนั้น ปปง. และตำรวจจะต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งในการทำงานร่วมกันนี้จะไปสู่มิติของการทำคดีอาญาที่ตำรวจจะตั้งประเด็นการสอบสวนว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง ใครคือผู้ต้องหา และเกี่ยวข้องโดยพฤติการณ์ใด เบื้องต้นจึงยังอยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้านก่อน จึงยังไม่สามารถสรุปตัวเลขมูลค่า และประเภทรายการทรัพย์สินได้ ทั้งนี้ จะเป็นบรรดารถยนต์หรู นาฬิกาหรู บ้านหลังโต เงินสด เงินฝากในบัญชีธนาคารหรือไม่ ขอให้สังคมจับตาดูการทำงานอย่างเต็มที่ ถูกต้อง และรวดเร็วของ ปปง.

นายเทพสุ เผยต่อว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 17 ต.ค. นี้ ที่จะมีการประชุมของคณะกรรมการธุรกรรม เดิมทียังตั้งวาระเพียงแค่การเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อมีมติให้ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินในเชิงลึก แต่ถ้าถึงวันนั้นข้อมูลและพยานหลักฐานมีความสมบูรณ์มากเพียงพอ ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมก็สามารถมีมติออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ไว้ตรวจสอบได้ทันที อย่างไรก็ตาม คำสั่งยึดและอายัดจะต้องพิจารณาจากทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเท่านั้น จะไม่ใช้หลักการตรวจสอบแบบหว่านแห แต่ต้องดูว่าเข้าบทนิยามว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือมีพฤติการณ์ในการยักย้าย หรือกำลังจะยักย้าย จำหน่าย จ่าย โอน หรือไม่ ส่วนจะเป็นทรัพย์สินที่กลุ่มผู้ต้องหาได้มาในช่วงเกิดเหตุที่บริษัทถูกผู้เสียหายร้องเรียนในปี พ.ศ. 2564 หรือไม่นั้น ยืนยันว่า ปปง. จะต้องตรวจสอบย้อนหลังเเน่นอนและจะต้องตรวจสอบให้รอบด้าน

เมื่อถามว่าการตรวจสอบทรัพย์สินเชิงลึก และเตรียมมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินนั้น ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลใดบ้าง นายเทพสุ ระบุว่า สำหรับเรื่องที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม อยู่ในข่ายของผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบ ซึ่งก็คือผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย ตามที่ตำรวจ ปคบ. ได้มีการออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

นายเทพสุ กล่าวด้วยว่า กรณีหากมีการยึดและอายัดทรัพย์สินเกิดขึ้นไปแล้ว แต่ในอนาคตเจ้าหน้าที่ ปปง. สามารถสืบทรัพย์สินได้เพิ่มเติม และพบว่าทรัพย์สินนั้น ๆ มาจากการกระทำความผิดในคดีมูลฐาน ปปง. ก็สามารถเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินได้อีก ตนขอเรียนพี่น้องประชาชน ว่า การดำเนินการตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินถือเป็นมาตรการที่รุนแรง การใช้อำนาจจึงต้องอิงด้วยหลักกฏหมาย และจะต้องดูในทุกมิติ การจะดำเนินการสิ่งใดแม้ต้องใช้ความรวดเร็ว แต่ก็ต้องละเอียดรอบคอบอย่างยิ่ง ส่วนในกรณีที่สังคมตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มผู้ต้องหาอาจมีการจำหน่าย ยักย้าย ถ่ายเท แปลงสภาพทรัพย์สินไปก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้ายึดและอายัดนั้น ขอย้ำว่าเรามีการเฝ้าระวังอย่างดี

เมื่อถามว่าจากการดำเนินการตรวจสอบหรือสืบทรัพย์สินของทางสำนักงาน ปปง. พบหรือไม่ว่ากลุ่มผู้ต้องหาหรือกลุ่มเครือข่ายมีการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินออกไปยังต่างประเทศ นายเทพสุ กล่าวว่า ในตอนนี้เบื้องต้นยังไม่พบการทำธุรกรรมในลักษณะดังกล่าว แต่ทุกอย่างยังอยู่ระหว่างกระบวนการสืบสวน

นายเทพสุ ย้ำว่า การใช้อำนาจเข้าไปยึดและอายัดทรัพย์สิน เรามองถึงผลลัพธ์สูงสุด หากท้ายสุดผู้ต้องหามีพฤติกรรมการยักย้าย จำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สิน ข้อกล่าวหาที่จะตามมาก็คือการฟอกเงิน ซึ่งเป็นฐานความผิดที่ระวางอัตราโทษสูง ยกตัวอย่างเช่น หากในวันนี้ผู้ต้องหารายใดมีการโอนจ่ายทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดออกไป 3 ครั้ง ก็จะนับเป็น 3 กรรม นี่จึงเป็นมาตรการรุนแรงที่กฎหมายได้ออกแบบไว้อย่างรอบคอบแล้ว และด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน เรามีความมั่นใจว่าสามารถติดตามทรัพย์สินกลับมาได้

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย ที่จะอยู่ในรายชื่อถูกดำเนินการทางทรัพย์สินของคณะกรรมการธุรกรรม ประกอบด้วย 1.นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล ผู้ก่อตั้งบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด 2.นายกันต์ กันตถาวร หรือบอสกันต์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด 3.นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือบอสแซม อดีตผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์ 4.น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือบอสมิน อดีตผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร 5.นายณัญปพนต์ เศรษฐนันท์ หรือบอสปีเตอร์ และ 6.นายฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ หรือบอสหมอเอก