ย่านเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร “เกาะรัตนโกสินทร์” พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา เนื้อที่กะทัดรัดโอบล้อมไปด้วยคูคลองถึงสามชั้น เป็นพื้นที่สำคัญทรงคุณค่ามานับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ทั้งเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกมุ่งหน้ามาสัมผัส

ภาพ: รุจ ศุภรุจ

พื้นที่ที่มากด้วยเรื่องราวหลายมิติน่าศึกษา ในความต่อเนื่องการส่งต่อความรู้ประวัติศาสตร์พื้นที่ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ “เรื่องเล่าชาวเกาะ” อีกหนึ่งเล่มหนังสือที่ทางมิวเซียมสยาม หรือสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) จัดทำขึ้น โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีผ่านเว็บไซต์  https://knowledge-center.museumsiam.org เป็นอีกคู่มือพร้อมพาสัมผัสพื้นที่ลึกซึ้ง ทั้งนี้พาเรียนรู้พื้นที่ผ่านหนังสือเล่มเล็กที่ต่อเนื่องมาจาก “รอบเกาะ” และ “ติดเกาะกับตึกเก่า”โดย เรื่องเล่าชาวเกาะถูกเล่าผ่าน เรื่องสั้นแนวบันเทิงคดี เชื่อมโยงเรื่องราวพื้นที่ประวัติศาสตร์กับการเดินทางโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายสีนํ้าเงิน ภายในเกาะรัตนโกสินทร์

ชนน์ชนก พลสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยามกล่าวว่า ประวัติศาสตร์มักถูกมองเป็นเรื่องอดีต เราจึงมีความพยายามจะ Connect ประวัติศาสตร์ให้อะไรกับชีวิต การเรียนรู้ดีอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมาก และในฐานะ History Museum เราต้องการให้เห็นว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ได้ไกลแต่อย่างใด โดยไม่ต้องกลับมาในคำถามที่ว่าจะต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไปทำไม

ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยาม ชนน์ชนก เล่าเพิ่มอีกว่า เมื่อก่อนที่เราทำนิทรรศการ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆในวิธีการคิดเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาใช้เลือกออกแบบการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ อย่างครั้งที่ผ่านมานิทรรศการโมเสก อาจจะค่อนข้างไกลตัว แต่มิวเซียมสยามเราก็มีกิจกรรม รวมถึงการจัดโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์

“ ประวัติศาสตร์อาจเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาตนเอง และตอบกับตัวเองได้ว่าเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่ออะไร รวมถึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้ได้รู้จัก เข้าใจตัวตน ที่ผ่านมาก็จะมีประเด็นเหล่านี้ อย่างปีที่เราทำนิทรรศการ วิกฤติต้มยำกุ้ง ช่วงเวลานั้นก็จะมีเรื่องที่พูดสิ่งที่ใกล้ตัว ทั้งนี้หากเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะช่วยให้คุณภาพชีวิตทางการเงินของเราดีขึ้น นิทรรศการฯครั้งนั้นก็จะมีบอร์ดเกมต้มยำกุ้ง เป็นเครื่องมือสื่อสารบริหารจัดการตนเอง เรียนรู้จากวิกฤติการณ์ครั้งนั้น”

สำหรับ ประวัติศาสตร์พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ จุดหลัก ๆ มองว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่จะอธิบายความเป็นสยามความเป็นไทย มีประวัติศาสตร์ที่สามารถย้อนกลับไปได้ถึง 3 ช่วง นับแต่ช่วงที่มีความเป็นอดีต เริ่มปักหมุดการเกิดขึ้นของราชธานี มาถึงการเปลี่ยนแปลง และจุดที่เป็นปัจจุบัน  การส่งต่อความรู้จะมี Content ที่พูดถึงเรื่องราวอดีต การเปลี่ยนแปลงของอดีตที่เชื่อมต่อมาถึงปัจจุบัน และพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นปัจจุบัน

“พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เป็นเหมือนประตูที่ทำให้เรารู้จักประเทศไทย  จุดที่เป็นประวัติศาสตร์ที่อธิบายผ่านอาคาร สถาปัตยกรรม ผ่านวัดวาอารามฯลฯ นักท่องเที่ยวและคนทั่วไปอาจทราบกันดีถึงความสำคัญของพื้นที่นี้อยู่แล้ว ขณะที่เรื่องราวของผู้คน วิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปของแต่ละยุคสมัยอาจยังไม่ค่อยได้เห็นหรือเล่าเรื่องราวเหล่านี้ การศึกษา ส่งต่อความรู้ในพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ที่จัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็ก Pocket Book ที่ดำเนินการต่อเนื่องมา จะทำให้เห็นพื้นที่แห่งนี้ในมิติต่าง ๆ คมชัดขึ้น ทั้งกิจกรรมต่าง ๆ จะดึงดูดให้ผู้คนได้สนใจพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้”

ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยาม ชนน์ชนก ขยายความเพิ่มอีกว่า ก่อนมาถึงหนังสือเล่มเล็กเล่มล่าสุดนี้ จากที่กล่าวได้จัดทำหนังสือ รอบเกาะไกด์บุ๊ก โดยเล่มนี้เนื้อหาพูดถึงพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ในมุมการท่องเที่ยว พาเดินทางไปในพื้นที่ต่าง ๆ มีมุมมองที่เป็นไลฟ์สไตล์ โดยเป้าหมายใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือท่องเที่ยว ได้สัมผัสเรียนรู้มนต์เสน่ห์ของเกาะรัตนโกสินทร์ ต่อมาเป็นเล่ม ติดเกาะตึกเก่า เล่มนี้โฟกัสไปที่เรื่องราวทางสถาปัตยกรรมอาคาร บ้านเรือน สถานที่ที่เป็นไอคอนของยุคโดยถ้าศึกษาต่อไปจะเห็นถึงเรื่องราวของผู้คนเล่าประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น และต่อเนื่องมาถึงเล่มนี้

“เรื่องเล่าชาวเกาะ” ถ้ามองจากปกหนังสือเราพยายามอธิบายคำว่า เกาะรัตนโกสินทร์ที่กว้างขึ้น “พื้นที่ชั้นใน อย่างเช่น มิวเซียมสยาม หรืออีกหลายสถานที่ที่เป็นที่ทราบกัน พื้นที่คลองคูเมืองและขยายออกไปแต่ยังคงอยู่ในขอบข่ายของพื้นที่เกาะเมือง โดยเล่าขยายพื้นที่กว้างออกไปถึงหัวลำโพง โดยมีนักเขียนรับเชิญที่มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่ 14 ท่าน พร้อมภาพประกอบที่สร้างสรรค์จากนักออกแบบภาพประกอบ 12 ท่าน ร่วมบอกเล่า ชวนทำความรู้จักกับพื้นที่

ถ้าให้เห็นพื้นที่ อย่างง่าย ๆ เราดีไซน์ 4×3 มองถึงจุดที่เกาะเกี่ยวกันของเกาะรัตนโกสินทร์ เชื่อมโยงเรื่องราวพื้นที่ประวัติศาสตร์กับการเดินทางโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายสีนํ้าเงิน ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ 4 สถานี นับแต่พื้นที่ชั้นในสถานีสนามไชย ไล่ไปจนถึงสถานีหัวลำโพง ส่วนคูณ 3 คือมองเป็น 3 ยุค ยุคที่เป็นเรื่องราวอดีตยุคจารีต ยุคเปลี่ยนผ่านจากแบบเก่ามาเป็นปัจจุบันได้อย่างไร สู่ยุคปัจจุบันที่เราพูดถึง ชวนให้เห็นถึงข้อมูลของคนในพื้นที่ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้น โดยยังคงเป็นคู่มือเดินทางเที่ยวชมพื้นที่ประวัติศาสตร์ เป็นไกด์บุ๊คให้ได้พกพาได้ทำความรู้จักกับพื้นที่ โดยอาจจะมีมุมมองใหม่ ๆ กลับไป”

อีกส่วนหนึ่ง จากที่กล่าวมีนักเล่าเรื่อง นักวาดภาพประกอบร่วมบอกเล่าเรื่องพื้นที่ ให้มีความน่าสนใจน่าติดตาม ทั้งนี้เกาะรัตนโกสินทร์ มีงานวิจัยไม่น้อยที่พูดถึง แต่หากเป็นมิติเหล่านี้อาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงจึงได้เชิญชวนผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งนักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ อาจารย์นักโบราณคดี ฯลฯ ร่วมเขียนบอกเล่า โดยมีวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกัน นำเสนอเรื่องราวที่มีอรรถรส หรือเพิ่มจินตนาการเพลิดเพลินโดยอาจสนใจกลับไปค้นคว้าประวัติศาสตร์จริงหลังการอ่าน ฯลฯ นอกเหนือจากการเล่าเรื่องยังมี ภาพประกอบ ร่วมบอกเล่า โดยผู้ที่ชื่นชอบการอ่าน และชอบอ่านภาพจะได้เห็นถึงรายละเอียดที่มีอรรถรสของทั้งสององค์ประกอบ อ่านได้ทั้งเรื่องและอ่านได้ทั้งภาพ เป็นอีกช่องทางเรียนรู้ประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ สื่อสารประวัติศาสตร์ย่านเก่าให้ยังคงโลดแล่นอยู่ในชีวิตของผู้คน.

                                                                                                                                                                พงษ์พรรณ บุญเลิศ