กรณี น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด – The iCon Group Co., Ltd. ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพและความงาม หลังปรากฏจำนวนผู้เสียหายกว่า 500 ราย มูลค่าความเสียหาย 118 ล้านบาท ร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทและกรรมการต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. ซึ่งจำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายเข้าเกณฑ์เป็นคดีพิเศษ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เนื่องจากมีจำนวนผู้เสียหาย 300 รายขึ้นไป และมีมูลค่าความเสียหายเกิน 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กระบวนการรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดีเอสไอพิจารณา ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

‘จิราพร’เผยตำรวจเร่งคดี ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’-เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ให้ดีเอสไอพิจารณา

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจาก พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถึงกระบวนการพิจารณาการรับคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เป็นคดีพิเศษ ว่า สำหรับการรับเป็นคดีพิเศษของดีเอสไอ มีเกณฑ์พิจารณาอยู่ที่จำนวนผู้เสียหาย 300 ราย มูลค่าความเสียหายเกิน 100 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นตอนนี้พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบสำนวนคดี หากมีการรวบรวมพยานหลักฐาน พยานเอกสาร พยานวัตถุ มีการสอบปากคำผู้เสียหาย สอบปากคำผู้ถูกกล่าวหา แล้วพบพฤติการณ์ที่เข้าข่ายอาจเป็นความผิดแชร์ลูกโซ่ตามแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องมีการแจ้งเรื่องและพฤติการณ์ทางคดีมาให้ดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้ดีเอสไอยังไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษ แต่การดำเนินการตรวจสอบจะไม่หยุดชะงัก เพราะทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและดีเอสไอ โดย พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ (กองคดีแชร์ลูกโซ่ดีเอสไอ) มีการประสานเรื่องข้อมูลร่วมกันต่อเนื่อง

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวต่อว่า หากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ในส่วนของการสอบปากคำเหล่าบรรดาบอสของบริษัทฯ และบอสดารา จะมีการเรียกสอบปากคำซ้ำอีกหรือไม่นั้น ดีเอสไอก็ต้องดูข้อเท็จจริงที่เคยมีการให้การไว้ เพื่อพิจารณาว่ายังมีประเด็นใดที่ดีเอสไอต้องสอบถามเพิ่มเติมหรือไม่ รวมทั้งต้องดูข้อมูลที่ตำรวจได้ไปรวบรวมตรวจค้นว่ามีรายการใดบ้าง ส่วนกรอบขอบเขตการสอบสวนที่ดีเอสไอตั้งไว้ คือ เน้นย้ำเรื่องบัญชีของบริษัทและวิธีการรับประโยชน์ อาทิ แผนธุรกิจของบริษัทฯ มีการเน้นหาสมาชิกหน้าใหม่มากกว่าเน้นการขายผลิตภัณฑ์หรือไม่ เเละเส้นทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารแผนธุรกิจ

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า การจะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษหรือไม่นั้น หากพบว่าพฤติการณ์มีลักษณะความผิดตามแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ทันที แต่ถ้าหากไม่เป็นความผิดตามแนบท้าย ก็ต้องเสนอกรรมการคดีพิเศษ พิจารณารับเป็นคดีพิเศษตามขั้นตอน

ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ทราบว่ากระบวนการการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลใดเพียงแต่ระบุว่า บุคคลนั้นมีผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษในฐานความผิดใด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงดำเนินการต่อไป แต่ทางดีเอสไอเองได้ดำเนินการเรื่องข้อมูลที่ได้มาเพื่อดูองค์ประกอบกรณีแชร์ลูกโซ่ว่ามีเหตุสงสัยหรือไม่ หากมีเหตุสงสัยก็จะดำเนินการสืบสวนคู่ขนานและจะไล่เรียงเรื่องเส้นทางการเงิน ซึ่งดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการประสานข้อมูลกันอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบปากคำผู้เสียหายและรวบรวมพยานหลักฐานจนสรุปพฤติการณ์ชี้ประเด็นว่าเป็นความผิดแชร์ลูกโซ่ จึงจะเข้าของค์ประกอบเป็นความผิดตามแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

พ.ต.ต.วรณัน เผยต่อว่า สำหรับภาพขั้นตอนหากดีเอสไอรับคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เป็นคดีพิเศษ มีดังนี้ 1.การรับส่งสำนวนระหว่างกันของตำรวจและดีเอสไอ 2.การสอบปากคำพยานทางตำรวจยังมีอำนาจในการสอบปากคำตามที่ดีเอสไอร้องขอเพื่อกระจายบรรดาพยานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ตามสถานีโรงพักทั่วประเทศดำเนินการสอบปากคำได้อย่างทั่วถึง 3.สอบสวนเส้นทางการเงินและองค์ประกอบความผิด เพราะดีเอสไอเล็งเห็นว่าแผนธุรกิจดังกล่าวมีการเตรียมการซับซ้อนพอสมควร อีกทั้งประการสำคัญ คือ บริษัทดังกล่าวได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการตลาดแบบตรงจาก สคบ. จึงเป็นเนื้อหาสำคัญที่ดีเอสไอจะต้องดูว่าตกลงแล้วบริษัทแห่งนี้ได้ดำเนินการผิดหลักเงื่อนไขตลาดแบบตรงของ สคบ. หรือกระทำผิดจากเหตุแชร์ลูกโซ่

พ.ต.ต.วรณัน เผยอีกว่า กรอบการดำเนินการสอบสวน หากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ มีการวางโครงสร้างการดำเนินงานเบื้องต้น ดังนี้ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการการรับส่งสำนวนระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและดีเอสไอไม่ว่าจะเป็นรายงานการสอบปากคำพยาน ประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจค้น ยึดและอายัด จากนั้นดีเอสไอจะพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อตรวจสอบว่าเข้าองค์ประกอบฐานความผิดแชร์ลูกโซ่อย่างไร โดยจะดูเรื่องความหมายของการกู้ยืมเงินเปรียบเทียบกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น และจะมีการประสานกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ว่าแผนประทุษกรรมของแผนธุรกิจดังกล่าวนั้น ในฐานะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมาย วิเคราะห์แล้วมันเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่หรือไม่ เพราะมันมีผลผูกพันกับอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ส่วนเรื่องการจะออกหมายเรียกแก่เหล่าบรรดาบอสต่าง ๆ นั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งสำนวนมาแล้ว ดีเอสไอก็จะมาดูพฤติการณ์ว่าจะต้องสอบสวนประเด็นใดเพิ่มหรือไม่ จึงจะออกหมายเรียกบรรดาบอสเข้ามาสอบปากคำ

พ.ต.ต.วรณัน เผยด้วยว่า สำหรับประเด็นการตรวจสอบเส้นทางการเงินในส่วนของดีเอสไอนั้น เราจะดูรายได้ของบริษัททั้งหมด เพราะแผนธุรกิจของบริษัทฯ เป็นการประกอบธุรกิจตลาดขายตรงโดยที่มีการจดทะเบียนถูกต้องจาก สคบ. เราจึงต้องไปดูระบบการเงินก่อน อย่างไรก็ตาม ตนต้องชี้แจงว่า ในขณะนี้ทั้งหมดยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ยังมีโอกาสที่จะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ชี้แจงข้อเท็จจริง และสามารถนำพยานหลักฐานที่จะชี้แจงเข้าสำนวนของพนักงานสอบสวนได้ ซึ่งตรงนี้ดีเอสไอจะใช้อำนาจของ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 7 เพื่อเปิดโอกาสให้ได้รายงานสถานภาพการประกอบธุรกิจ และจะได้ส่งพยานหลักฐานที่ดำเนินการอยู่มาให้ดีเอสไอ เพื่อเอาข้อเท็จจริงมากางดูต่อไป

“ขั้นตอนในวันนี้ ทาง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอดำเนินการตั้งเลขสืบสวนคดีพิเศษ คู่ขนานไประหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสอบสวนอยู่นั้น ดีเอสไอก็สามารถใช้อำนาจในการดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสืบสวนคู่ขนานไปได้ อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อตำรวจเราก็จะส่งให้ ยืนยันว่าไม่มีเส้นแบ่งระหว่างสองหน่วยงาน ทำงานซัพพอร์ตกัน แต่ถ้าเมื่อไรเป็นคดีพิเศษ ดีเอสไอก็จะมาเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานร่วมกัน” พ.ต.ต.วรณัน ระบุปิดท้าย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้รับรายงานเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวระดับสูง ว่า สิ่งที่น่าห่วงที่สุด คือ เรื่องของแผนธุรกิจ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เนื่องจากการลงทุนจะมีนิยามของการกู้ยืมเงินตามกฏหมายแชร์ลูกโซ่ แต่ในความเป็นจริงบริษัทดังกล่าว ไม่ได้ใช้คำที่บ่งบอกถึงลักษณะการเน้นหาสมาชิกโดยตรงแต่เป็นเรื่องของการหาตัวแทนจำหน่าย จึงทำให้ดีเอสไอต้องไปดูรายละเอียดและพฤติการณ์การกระทำจากพยานหลักฐานว่าเป็นอย่างไร แน่นอนว่าเจ้าตัวจะต้องสู้เรื่องการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงที่ได้รับอนุญาตจาก สคบ. และอ้างว่าทำตามรูปแบบตลาดแบบตรง และแม้อ้างว่ามีผลิตภัณฑ์จำหน่ายจริง แต่ก็เป็นแค่ส่วนประกอบ เพราะต้องไปดูลักษณะการกู้ยืม การเสนอผลตอบแทน มันเข้าลักษณะเเชร์ลูกโซ่หรือไม่ และเศรษฐกิจการคลังในฐานะที่เป็นหน่วยงานคำนวณแผนธุรกิจที่บ่งชี้ว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ ก็จะต้องให้ความเห็นในเรื่องนี้ด้วย .