Steam ผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์เกมดิจิทัล โดยบริษัท Value Corporation ได้นำหน้าข้อความใหม่มาแสดงภายในหน้า “รถเข็น” ของผู้ใช้แพลตฟอร์ม โดยขึ้นข้อความบอกผู้ใช้ไว้ว่า การสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มนี้ คือการซื้อสิทธิในการเข้าถึงตัวเกม ซอฟต์แวร์ หรือส่วนเสริมต่าง ๆ เท่านั้น ไม่ได้เป็นการให้ลูกค้าได้ครอบครองตัวผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด!

เมื่อคืนวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ทาง Steam ได้มีการปรับเปลี่ยนหน้าร้านค้าของพวกเขาใหม่ ให้มีกล่องข้อความเพื่อแจ้งถึงผู้ซื้อไว้ว่า “A purchase of a digital product grants a license for the product on Steam (การสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ดิจิทัลจะมอบใบอนุญาตสิทธิสำหรับผลิตภัณฑ์บน Steam)

ข้อความดังกล่าวนี้ คือการสรุปโดยย่อมาจาก “ข้อตกลงการสมัครสมาชิกของ Steam” ที่กล่าวถึงการสั่งซื้อ และสิทธิการเข้าถึงเกม มาตั้งแต่ช่วงแรกที่แพลตฟอร์มเปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทาง Steam ต้องมีการชี้แจงให้ลูกค้าทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะว่าผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่อยู่บนแพลตฟอร์มพวกเขามีสิ่งที่เรียกว่า “การจัดการสิทธิดิจิทัล” (Digital Rights Management หรือ DRM) ที่เป็นทั้งข้อตกลงและ ‘ข้อจำกัด’ ระหว่างแพลตฟอร์ม กับผู้พัฒนาเกม หรือผลิตภัณฑ์ดิจิทัลต่าง ๆ อยู่

ทาง Steam ได้นำระบบ DRM เข้ามาใช้ในแพลตฟอร์มของพวกเขา เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของนักพัฒนาและผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดิจิทัล รวมถึงผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายเกม โดยจะมีข้อบังคับร่วมกันเพื่อป้องกันการส่งต่อ หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้โดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วยังทำให้นักพัฒนาเหล่านี้ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ เราจึงสามารถสรุปได้ว่า ผู้ที่สั่งซื้อเกมผ่านแพลตฟอร์มนี้จะไม่ได้เป็นเจ้าของเกมหรือผลิตภัณฑ์ แต่จะได้รับ “ใบอนุญาต” ในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่สั่งซื้อไปแทน!

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนของ Steam ในครั้งนี้ ยังมีส่วนเกี่ยวข้องมาจากเรื่องของกฎหมายใหม่ที่ทาง รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตามบทบัญญัติ AB 2426 ได้กำหนดขึ้นว่า ร้านค้าดิจิทัลต่าง ๆ จะต้องมีการประกาศให้ชัดเจนว่าสินค้าที่สั่งซื้อไปจะเป็นแบบสั่งซื้อเพื่อการครอบครอง หรือจะเป็นการซื้อลิขสิทธิ์ของเกม โดยกฎหมายนี้จะมีการประกาศบังคับใช้ภายในปี 2025 ทำให้ทาง Steam ต้องมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าสินค้าที่สั่งซื้อไปในร้านค้าของพวกเขาคือการซื้อ สิทธิการเข้าถึง เท่านั้น!

การจัดการสิทธิดิจิทัล (DRM) นี้มีการบังคับใช้กับแพลตฟอร์ม GOG และ Steam ที่ใช้ระบบนี้อยู่ แต่ความแตกต่างระหว่างทั้งสองแพลตฟอร์มนี้คือ GOG จะให้สิทธิการเป็นเจ้าของเกมแก่ผู้เล่น โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ (DRM-Free) ในขณะที่ทาง Steam จะมี DRM อยู่ในทุกเกม เพื่อป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงยังเป็นส่วนสำคัญในการดูแลจัดการผลประกอบการระหว่างแพลตฟอร์มและผู้พัฒนาเกมอีกด้วย ทำให้การมี DRM นั้นเป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสียต่อผู้เล่น ผู้พัฒนา และเจ้าของแพลตฟอร์ม

ทั้งหมดนี้ เราจึงสามารถสรุปได้ว่า ผู้ที่สั่งซื้อเกมผ่านแพลตฟอร์มนี้จะไม่ได้เป็นเจ้าของเกม แต่จะได้รับช่องทางให้เข้าถึงเกมเหล่านั้นแทน!

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก: Steam