เมื่อวันที่ 13 ต.ค. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดพิจิตร เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า ตนพร้อมด้วย นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพิจิตร เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่าน พร้อมพบปะและให้กำลังใจประชาชน  พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัย และแผนการแก้ไขปัญหา และมอบนโยบายให้กับหัวหน้าส่วนราชการ 

นายประเสริฐ กล่าวว่า  ตนลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ทุ่งบางระกำ  ที่วัดพรหมเกษร อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดพิจิตร พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัย และลงเรือมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่บ้านเกาะสาริกา อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร  ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือและเยียวยาผลกระทบ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด 

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ ได้รับทราบสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่าน และได้เห็นสภาพปัญหาความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้วางแผนการเร่งระบายน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูแล้ง จึงต้องรอบคอบรัดกุมในการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเร่งสำรวจและเตรียมแหล่งกักเก็บน้ำสำรองไว้เพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ให้เร่งดำเนินการซ่อมแซมคันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ และตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนให้มีความมั่นคงแข็งแรง  ทั้งนี้ สำหรับโครงการบางระกำโมเดลถือว่าเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำ เป็นแก้มลิงธรรมชาติที่สามารถรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

ชณะที่เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ สุโขทัย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม อุบลราชธานี ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม ซึ่ง สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินติดตามคาดการณ์การเกิดพายุที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดพายุได้อีก 1 ลูก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันนี้–20 ต.ค. 67 ยังไม่พบความเสี่ยงในการก่อตัวของพายุที่จะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทย ส่วนสถานการณ์น้ำของแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จำนวน 3,857 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวม 452 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 87% โดยมีอ่างฯขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียว คือ อ่างฯแม่มอก มีปริมาตรน้ำ 105 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 96% ส่วนแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน จำนวน 4,334 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวม 10,051 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 94% โดยมีอ่างฯขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ อ่างฯสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 8,965 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 94% และ อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำ 746 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 79%