สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองกว่างโจว ประเทศจีน เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ว่าเครื่องตรวจจับทรงกลมทำจากอะคริลิกข้างต้นสูงเท่าตึก 12 ชั้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 35.4 เมตร ฝังอยู่ในชั้นหินแกรนิตของเนินเขาแห่งหนึ่ง ที่อำเภอไคผิง ในเมืองเจียงเหมิน ของมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน ถือเป็นส่วนสำคัญของสถานีตรวจวัดอนุภาคนิวทริโนใต้ดิน ที่เมืองเจียงเหมิน ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างทางวิทยาศาสตร์ ที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน


สถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งเป็นผู้นำดำเนินโครงการดังกล่าว กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการอันท้าทายนี้ เปิดตัวโดยสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง เมื่อปี 2558 ปัจจุบัน โครงการเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว คาดว่า การติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือน พ.ย. นี้ และมีกำหนดการเปิดใช้งานเต็มรูปแบบ ในเดือน ส.ค. 2568


หวังอี๋ฟาง หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ ประจำสถานีตรวจวัดอนุภาคนิวทริโนใต้ดินเมืองเจียงเหมิน และหัวหน้าสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง คาดการณ์ว่า สถานีตรวจวัดจะดำเนินงานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในการทดลองอันทรงพลังที่สุดของโลก ซึ่งมุ่งเปิดเผยความลึกลับของอนุภาคนิวทริโน

ทั้งนี้ สถานีตรวจวัดได้รับการออกแบบมา เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจลำดับขั้นของมวลอนุภาคนิวทริโน ผ่านการตรวจจับอนุภาคนิวทริโนในเครื่องปฏิกรณ์จากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หยางเจียง และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไถซาน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานี โดยมีค่าความละเอียดในการแยกพลังงาน ที่ระดับ 3% ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน


หวังกล่าวว่า การทำความเข้าใจลำดับขั้นของมวลอนุภาคนิวทริโน อาจมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อแบบจำลองทางกายภาพของอวกาศ รวมถึงการวิจัยเกี่ยวกับวิวัฒนาการของจักรวาล อีกทั้งสิ่งประดิษฐ์นี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ดำเนินการศึกษาขั้นสูงอื่น ๆ อาทิ การสังเกตซูเปอร์โนวา และอนุภาคนิวทริโนในชั้นบรรยากาศและในแสงอาทิตย์.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA