อุตสาหกรรมเกม และอีสปอร์ต (E-sports) หรือ กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มูลค่าเติบโตสูงมากในตลาดโลก มีการจัดทัวรนาเมนต์การแข่งขันชิงเงินรางวัลหลักล้าน ไม่นับรวมสปอนเซอร์ต่างๆ

ปัจจุบันจึงถูกจัดให้เป็นกีฬาประเภทหนึ่ง และได้ถูกบรรจุในกีฬาเอเชียนเกมส์ ไปแล้ว และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจจะถูกนำมาบรรจุในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ด้วย

เมื่อ “อุตสาหกรรมเกม และอีสปอร์ต” ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก การมีแผนส่งเสริมและการกำกับดูแลที่ดี เพื่อให้เรื่องเกมมีผลดีมากกว่าผลเสียจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ประเทศไทย  จำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่ที่ต้องออกมากำกับดูแลในเรื่องนี้ จากเดิมเรื่อง เกม ได้จัดในอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551  ที่มุ่งกำกับดูแลเกี่ยวกับเนื้อหาของเกม และเรื่องอินเทอร์เน็ตคาเฟ่  ซึ่งเวลาผ่านมาเกือบ 20 ปี  ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป กลายเป็นยุคดิจิทัล การเล่นเกมและรูปแบบของเกมจึงเปลี่ยนแปลงไป การตรากฎหมายใหม่ หรือ แก้กฎหมายให้ทันสมัยจึงมีความจำเป็น!!

ภาพ pixabay.com

 “ดีอี” ขอเป็นเจ้าภาพ

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)  บอกว่า รัฐบาล ภายใต้การนำขอ  น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้ เรื่องเกม และอีสปอร์ต เป็น 1 ใน 11 ซอฟต์พาวเวอร์ ที่จะส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ ที่สร้างโอกาสใหม่ๆ และดึงดูดการลงทุนและเม็ดเงินเข้าประเทศ ช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและยั่งยืน

แต่ปัจจุบันเรื่องเกมยังเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานหลายกระทรวง  และกฎหมายที่มีเนื้อหาส่งเสริมเรื่องเกมของไทยยังไม่มี  ดีอีจึงเห็นว่าควรร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาที่ส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งผู้พัฒนาเกม และ การแข่งขันอีสปอร์ต  การคุ้มครองผู้บริโภคหรือผู้เล่น ควบคุมการใช้จ่ายในเกมออนไลน์ รวมถึงป้องกันปัญหาด้านจริยธรรมที่อาจเกิดจากเนื้อหาในเกม เป็นต้น

“กระทรวงดีอีมองว่า อุตสาหกรรมอีสปอร์ต เกม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องคือ ‘โอกาสใหม่ของประเทศไทย’ จึงขอเป็นเจ้าภาพ โดยทาง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล  หรือ ดีป้า  จะประสานกับหน่วยงานต่างๆ เร่งผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 68”

ประเสริฐ จันทรรวงทอง

 สร้างโอกาสใหม่ให้ประเทศ

“ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า บอกว่า เรื่องเกม และ อีสปอร์ต เกี่ยวเนื่องกับอาชีพใหม่ๆ  คือ นักกีฬาอีสปอร์ต โค้ช ผู้จัดการแข่งขัน นักออกแบบ นักพัฒนาเกม  นักพากย์และผู้ผลิต เป็นต้น  ร่างกฎหมายใหม่ ไม่เพียงแค่ควบคุม แต่เป็นกุญแจปลดล็อกโอกาสใหม่ ดันไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนและพัฒนาเกมของภูมิภาคอาเซียน

“ปัจจุบันไทยมีคนเล่นเกมอยู่ประมาณ  38 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ 16.3 ล้านคนเป็นเยาวชนอายุ 6-24 ปี และมีผู้เล่นเกมออนไลน์ 14.4 ล้านคน ขณะที่นักกีฬาอีสปอร์ตมีเพียง 2,000 คน สามารถสร้างรายได้รวมกว่า 1,000 ล้านบาท แม้ตลาดเกมไทยจะเติบโตเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย แต่คนไทยยอมจ่ายหนัก ซื้อไอเทมในเกมมากเป็นอันดับ 1”

ภาพ pixabay.com

อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดเกมไทยจะมีมูลค่า 4  หมื่นล้านบาท แต่เป็นเงินที่เข้าไทยหรือเป็นผู้ประกอบการไทยมีมูลค่าเพียง 700-800 ล้านบาท เม็ดเงินส่วนใหญ่ไหลออกไปจากการนำเข้าเกม ซื้อไอเทม และไม่มีการเสียภาษี  ร่างกฎหมายใหม่นี้ จะมีเนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งหมด โดยทางดีป้า จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์  กรมสรรพากร กระทรวงคลัง  กระทรวงวัฒธรรม  และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบูรณาการ 

โดยคาดว่า จะสามารถนำไปประชาพิจารณ์ในเร็วๆ นี้  โดยเชิญตัวแทนจากหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ นักพัฒนาเกม สถาบันการศึกษา รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ และนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอ ครม. และสภาต่อไป เพื่อให้สามารถออกมาบังคับใช้ได้ภายในปี 68  และจะมีส่วนช่วยทำให้มูลค่าตลาดในไทยจะเติบโตถึง 100,000 ล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้าหรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10-20%

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

 ร่าง พ.ร.บ. ประกอบด้วย 3 ส่วน

ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า  บอกอีกว่า  สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1.การขึ้นทะเบียน โดยจะกำหนดให้ผู้พัฒนาเกมและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องขึ้นทะเบียน รวมถึงการควบคุมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การเก็บภาษีจากธุรกรรมระหว่างประเทศ และการคุ้มครองข้อมูลผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาไซเบอร์ เช่น การฟอกเงิน การพนันออนไลน์ และการละเมิดลิขสิทธิ์

2.กำกับดูแลและควบคุม กฎหมายจะมีเนื้อหาป้องกันการเผยแพร่เนื้อหาที่ผิดจริยธรรมและไม่เหมาะสม เช่น ภาพลามกอนาจาร เนื้อหามีความรุนแรง การกลั่นแกล้ง หรือการคุกคาม ขัดต่อวัฒนธรรม โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและออกมาตรฐานการควบคุมเกมให้เป็นไปตามเกณฑ์สากล รวมถึงควบคุมเนื้อหาเกมสอดคล้องกับบริบททางสังคม

ภาพ pixabay.com

และ 3.ส่งเสริมให้สอดคล้องกับยุคสมัย ตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรมเกมและแอนิเมชันของไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพัฒนาเกมระดับภูมิภาค ภายใน 5 ปี  ด้วยมูลค่าเติบโตถึง 100,000 ล้านบาท  นอกจากนี้ยังมุ่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่อุตสาหกรรมเกมในไทย สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตในไทย

เกมต่างชาติดึงเงินออกนอกประเทศ

ด้าน “ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์” รอง ผอ.ใหญ่ ดีป้า บอกว่า ปัจจุบันเกมที่ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ามาจดทะเบียนในไทยให้บริการผ่านเซิร์ฟเวอร์นอกประเทศ เล่นออนไลน์แบบสตรีมมิ่ง  และดาวน์โหลดผ่าน กูเกิล เพลย์สโตร์ และไอโอเอสของ แอปเปิล  เมื่อมีการซื้อและจ่ายในเกมทำให้เงินไหลออกไม่มีการเสียภาษี  เช่น เกมจากจีนมีเป็นร้อยๆ เกม และมีกลยุทธ์ทุ่มเงินทำให้เกมติดตลาดใน 5 ปี  หากมีกฎหมายออกมา สามารถชักชวน หรือกำกับดูแลให้มีการจดทะเบียนและตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทย มีการเก็บภาษี ก็จะลดเงินไหลออก มีรายได้กลับเข้าประเทศได้

ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์

ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาเกม มีเกมเป็นของตนเองให้บริการในระดับโลก ไม่ใช่เพียงรับจ้างผลิตเท่านั้นเพื่อให้ต่อยอดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น  ธุรกิจคาแรกเตอร์  การจัดแข่งอีสปอร์ต เป็นต้น เพื่อทำรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งหมดคือเหตุผลที่ไทยต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกมที่ทันสมัยและส่งเสริมครอบคลุมทุกมิติเกี่ยวกับเกมและอีสปอร์ต เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยและอุตสาหกรรมเกมไทยแข่งขันในตลาดโลกได้!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์