เมื่อเวลา 12.55 น. วันที่ 12 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ปฏิเสธแสดงความเห็นกรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ ออกมาร้องศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้สั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย หยุดการกระทำอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ใน 6 ประเด็น ว่า ตนไม่ได้ติดตามการเมืองรายวัน จึงไม่มีความเห็นต่อเรื่องนี้

เมื่อถามว่ามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองและพฤติกรรมของนายทักษิณ เป็นไปตามคำร้องหรือไม่ นายธนาธร กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นคำร้อง คงจะออกมาพูดไม่ได้ เมื่อถามย้ำว่ามองเรื่องที่ออกมาร้องนี้ว่าอย่างไร นายธนาธร กล่าวว่า ตนไม่ได้มอง ไม่ได้ติดตามประเด็นการเมืองรายวันอย่างใกล้ชิด จึงไม่ทราบว่าเนื้อหาคำร้องมีรายละเอียดอย่างไร ต่อข้อถามว่ามีการวิเคราะห์ว่าคำร้องดังกล่าว ยึดโยงไปถึงคำร้องยุบพรรคก้าวไกล นายธนาธร กล่าวว่า ในส่วนของพรรคก้าวไกลแล้วพรรคประชาชน ก็มีรูปแบบการทำงานที่เป็นตัวของตัวเอง สำหรับพรรคเพื่อไทย ก็มีแนวทางการทำงานของตัวเอง คงไม่สามารถนำมายึดโยงกันได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าหนึ่งในคำร้อง 6 ข้อ มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลในพื้นที่ ได้มีการติดตามเรื่องนี้อย่างไร นายธนาธร กล่าวว่า เรื่องนี้ขอให้ถามจากนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน 

ขณะที่นายวิโรจน์ กล่าวว่า เรื่องนั้นคงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกันต่อไป ทั้งนี้ ขอให้ตั้งข้อสังเกตว่าเห็นความผิดปกติของการออกมาร้องในครั้งนี้ 1 คนร้องที่มี 1 คนร้อง และกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่ง มีหน้าที่ทำร้าย ทำลาย พรรคการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตนมองว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เรามองเป็นเรื่องปกติไม่ได้ ดังนั้นตนมองว่า หากจะมีการนำข้ออ้างนั้นมาร้อง ควรจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ตนมองไกลกว่านั้นว่า หากพ้นจากประเด็นนี้ ก็จะมีประเด็นอื่นอีก คือมี 1 นักร้อง และอีก 1 กลุ่มคนทำร้าย ซึ่งก็จะสามารถทำร้ายทำลายคนที่ประชาชนเลือกมา ซึ่งตอนยืนยันว่า ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล จนถึงพรรคประชาชน เราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ผิดปกติ

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าการออกมาร้องนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนบุคคล สลับกันทำหน้าที่ ใช่หรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนมองโดยพฤติการณ์ ส่วนกลุ่มคนนั้น ตนขอไม่ไปเพ่งเล็งว่าเป็นใคร เราดูที่พฤติกรรม ซึ่งตนเรียกว่าเป็นพฤติการณ์ที่ไม่เคารพสิทธิของประชาชน ซึ่งเราไม่เห็นด้วย ตนไม่อยากไปให้รายละเอียด ว่าเรื่องนั้นหรือเรื่องนี้มีเหตุผลหรือไม่ ซึ่งเมื่อมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้วเราก็จะรู้ แต่ตนมองในภาพใหญ่

เมื่อถามว่าแสดงว่าหากมีเรื่องใดที่เกิดข้อสงสัย ควรนำมาพูดกันในสภา หรือนำมาอภิปราย ใช่หรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ถูกต้อง มารวมกัน เพราะมีกลไกของกรรมาธิการ มีกลไกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากเป็นเรื่องแบบนั้นจริง นายกรัฐมนตรี ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง ด้วยกลไกของรัฐสภา ไม่ใช่พ้นไปด้วยกระบวนการอื่น