เมื่อวันที่ 12 ต.ค. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึงแผนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ในปี 2568 ว่า กระทรวงแรงงานตั้งเป้าว่าในปี 2568 จะต้องจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศไม่น้อยกว่า 1 แสนคน แต่ที่เพิ่มเติมคือพยายามทำให้ทะลุเป้านี้ โดยได้คุยกับอธิบดีกรมการจัดหางานจะต้องมีบันไดไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย เพื่อให้ภายใน 5 ปีข้างหน้า จะสามารถส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศไทยถึง 2 แสนคนให้ได้ เพื่อลดการขาดดุลจากกรณีมีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ตีตัวเลขไว้ราวๆ 5 ล้านคน ซึ่งแรงงานคนหนึ่งคิดค่าแรงเป็น 1 หมื่นบาทต่อเดือน หรือ 1.2 แสนบาทต่อปี ถ้า 5 ล้านคน คิดเป็นเงิน 6 แสนล้านบาทต่อปี แต่หากไทยสามารถส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ต่างประเทศได้อย่างน้อยคือ 2 แสนคน อาจจะมีเงินเข้ามามากกว่าปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่ามีเม็ดเงินรายได้ส่วนนี้อยู่ประมาณไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท  

“ธนาคารแห่งประเทศไทย เก็บตัวเลขไว้ว่าเงินรายได้จากแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศมีมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้นเราจึงคิดว่า จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างการส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ และนำเงินกลับเข้ามาสู่ประเทศไทย เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่เราจ่ายให้กับแรงงานเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยกว่าปีละ 6 แสนล้านบาท ถ้าเราสามารถขยับให้เกิดคความสมดุลได้ ผมเชื่อว่าประเทศเราจะได้ประโยชน์มากที่สุด” รมว.แรงงาน กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ดังนั้น เบื้องต้นได้มีการเดินหน้าเจรจากับหลายๆ ประเทศเพื่อส่งแรงงานไป อย่างช่วงฤดูเก็บผลไม้ป่าของประเทศฟินแลนด์ และสวีเดนนั้น ตนพร้อมอธิบดีกรมการจัดหางานได้มีการเจรจาโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของฟินแลนด์เรียบร้อยแล้ว โดยรัฐบาลจะเป็นผู้จัดจ้างและค้ำประกันค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นบาท ระยะเวลาทำงาน 3 เดือนครึ่ง ไม่เกิน 4 เดือน เพราะฉะนั้น เท่ากับว่าฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ป่าในแต่ละปี แรงงานจะมีรายได้ถึง 2.5 แสนบาท ส่วนประเทศสวีเดน ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจกันในการจัดส่งแรงงาน และมองว่าเรามีการค้ามนุษย์ เอาเปรียบแรงงานนั้น ในเดือน พ.ย. นี้ ตนพร้อมด้วยปลัดกระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมการจัดหางานจะเดินทางไปเจรจากับรัฐบาลสวีเดน เรื่องการส่งแรงงาน ซึ่งคิดว่าที่ดีที่สุดคือการจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐ คือ กรมการจัดหางานจะเป็นผู้ส่งแรงงานไปเอง รัฐบาลเป็นผู้จัดการเรื่องค่าแรงว่าจะได้ต่อเดือนเท่าไหร่ อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่าที่ฟินแลนด์ให้ คือไม่น้อยกว่า 5 หมื่นบาท หรือไม่

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังพยายามเจาะตลาดแรงงานเข้าไปในอีกหลายๆ ประเทศ เช่นเมื่อครั้งที่ตนไปประชุมแรงงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ก็มีการเจรจาทวิภาคีกับประเทศอิตาลี ซึ่งรับว่า จะบรรจุการเรื่องเปิดรับแรงงานไทยเป็นการเฉพาะ ให้สามารถเข้าไปทำงานที่อิตาลีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังไม่ได้เข้าสู่สภา รวมถึงประเทศอื่นๆ ในอียู เพราะเราพยายามเจรจาให้ได้มากที่สุด เพราะการทำงานที่ยุโรป จะได้ค่าแรงสูงกว่าประเทศในแถบเอเชีย ทั้งนี้ นอกจากได้เงินเพื่อนำกลับมาดูแลครอบครัวแล้ว ยังหวังว่าแรงงานไทย จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงาน เทคโนโลยีจากการทำงานต่างประเทศ เพื่อนำกลับมาพัฒนาการทำงานในประเทศไทยต่อไปได้ด้วย