กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งอยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวังเมื่อน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ หลายคนกังวลว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ อีกทั้งมวลน้ำจำนวนมากที่เห็นตามข่าวทั้งใน จ.เชียงใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.นนทบุรี ที่ประสบสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ จะไหลมาสมทบ ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้น จนท่วม กทม. หรือไม่

“ชุมชนเมือง เดลินิวส์” พาไปไขปัญหานี้โดยข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก “กรุงเทพมหานคร” เผยแพร่ข้อมูล 88 กม. แนวกั้นน้ำริมเจ้าพระยา พร้อมปกป้องชาวกรุง ระบุ กทม. มีเขื่อนตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยายาว 88 กม. โดยแนวป้องกันน้ำท่วมความสูงประมาณ +2.80 เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ถึงความสูงประมาณ +3.50 ม.รทก. โดยขนาดของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพฯ สามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือได้ประมาณ 2,500-3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยไม่มีปัญหาน้ำล้นตลิ่ง แต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ประมาท

ทั้งนี้ ตลอดแนวมีจุดอ่อนน้ำท่วม 120 จุด ปัจจุบันแก้ไปแล้ว 64 จุด ที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการดำเนินการทั้งหมด ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง จัดเตรียมกระสอบทรายพร้อมเจ้าหน้าที่เข้าไปเรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำกับเสริมความมั่งคงแข็งแรงให้สามารถป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงให้เกิดความปลอดภัยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง สำหรับในพื้นที่ 7 เขต 16 จุด 731 หลังคาเรือน ซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แจ้งเตือนและขอให้ประชาชนนอกคันกั้นน้ำ ยกของขึ้นที่สูง ตรวจสอบปลั๊กไฟและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า มีคนกังวลเรื่องน้ำท่วม จึงอยากบอกว่า ตอนนี้ไม่ต้องกังวล โดยสาเหตุของความกังวลมาจาก 2 ส่วน คือเห็นน้ำท่วมที่ จ.เชียงใหม่ และกลัวว่าน้ำจะไหลลงมาที่ กทม. แต่ จริงๆ แล้วน้ำจากเชียงใหม่ที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิงนั้น จะไหลไปเขื่อนภูมิพลก่อน และจากการตรวจสอบ ขณะนี้เขื่อนภูมิพล มีความจุล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 71 เหลืออีกร้อยละ 29 ดังนั้นน้ำจากที่ จ.เชียงใหม่ ก็ยังลงที่เขื่อนภูมิพลได้

ส่วนที่เห็นจากข่าวประกาศยกของขึ้นที่สูงและข่าวน้ำท่วมแถว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา แถว จ.นนทบุรี แต่พื้นที่จะแตกต่างกับ กทม. เพราะ กทม. มีเขื่อนกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา (คันกั้นน้ำ) ยาว 88 กม. โดยเขื่อนที่ติดกับแถว จ.นนทบุรี มีความสูง 3.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งจะช่วยป้องกันกรณีที่แม่น้ำเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นเข้าท่วมบ้านเรือน ทำให้บ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำไม่มีปัญหา จึงเป็นเหตุผลว่า เหตุใดคน กทม. จึงไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่วมโดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชนที่อยู่หลังเขื่อน อีกทั้งด้วยเหตุผลที่ว่า กทม. เป็นเขตเศรษฐกิจ จึงต้องมีการทำเขื่อนกั้นน้ำ โดยทำมานานแล้ว ทำให้เรามีการป้องกันที่ดี

“คันกั้นน้ำหมายถึงเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 99.9 อยู่ในเขื่อนกั้นน้ำหมด มีแค่ 16 ชุมชน ที่อยู่นอกเขื่อน และมีประชาชนอาศัยอยู่ 700 หลังคาเรือน แต่จะมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกับการขึ้น-ลงของน้ำในแม่น้ำจริงๆ ประมาณ 100 หลังคาเรือน ซึ่งก็จะมีระยะเวลาประมาณ 3 ชม.”