วันที่11 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมชาย วงศ์จริยะเกษม นายอำเภอภูซาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอภูซาง จ.พะเยาได้เดินทางลงพื้นที่ไปยังศาลาประชาคมบ้านเวียงแก ม.10 ต.ป่าสัก อ.ภูซาง จ.พะเยา ในการพบปะชาวบ้านหลังที่นายอำเภอรายนี้ได้เดินทางมารับตำแหน่งนายอำเภอภูซางเมื่อไม่นานมานี้ โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้ทราบถึงปัญหาหลายเรื่องรวมทั้งการสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างหน่วยงานราชการกับชาวบ้านอีกทั้งยังได้มีการเรียนรู้ภูมิปัญญาของชาวบ้านในเรื่องของการจัดการแหล่งน้ำด้วย หลังจากนั้นนายอำเภอภูซางได้เดินทางไปยังพื้นที่ ต.ทุ่งกล้วย อ.ภูซาง ในการเชิญสิ่งของพระราชทานของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ผู้ยากไร้ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ ตำบลทุ่งกล้วย ม.1 – ม.13 อ.ภูซาง จ.พะเยา ทั้งหมดจำนวน 25 ชุด และยังมอบห้องน้ำเคลื่อนที่ 4 ชุด ต่อมาในวันเดียวกันทางนายอำเภอภูซางพร้อมด้วย นางรษิกา ประจันนวล ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนและบัตร นายชรินทร วงษาฝั้น ปลัดอำเภอ ร่วมกับศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 5 สาขาจังหวัดพะเยา ได้ออกให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชนเคลื่อนที่ ให้กับผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง จำนวน 2 ราย ในพื้นที่บ้านนาหนุน ม.2 ต.ภูซาง จำนวน 1 รายและบ้านสบบง ม.10 ต.สบบงอีก 1 รายด้วยกัน

นายสมชาย กล่าวว่า ในเรื่องของการลงพื้นที่พบปะชาวบ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้ง 61 หมู่บ้านใน 5 ตำบลของ อ.ภูซางนั้นตนได้มีแนวคิดที่พร้อมปฏิบัติตั้งแต่สมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอบัวเชด จ.สุรินทร์ มาแล้วเพราะในการลงพื้นที่พบปะชาวบ้านแต่ละครั้งได้ทราบถึงปัญหาต่าง ๆ ของชาวบ้านที่บางครั้งไม่ต้องรอหน่วยงายเข้ามาสอบถามซึ่งชาวบ้านสามารถยิงปัญหาตรงถึงนายอำเภอโดยทันที ซึ่งในเวลานี้ตนเดินทางพบปะชาวบ้านมาแล้วถึง 18 หมู่บ้านด้วยกันและคงจะยังทำต่อไปเรื่อย ๆ จนครบเพื่อชาวบ้านจะได้เห็นว่าตนพร้อมที่จะใส่ใจดูแลชาวบ้านอย่างจริงจังด้วยกัน และในส่วนของวันนี้ได้มีการพูดถึงการจัดการในเรื่องของการประชุมให้มีศักยภาพในด้านผู้นำชุมชนที่จะเข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริงรวมทั้งแผนพัฒนาทั้งในเรื่องความเป็นอยู่และการบริการจัดการเรื่องน้ำที่จะเอาไว้ใช้ในการเกษตรของชาวบ้านด้วย

นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า ในอีกประเด็นที่สำคัญนั้นคงจะเป็นเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาซึ่งทุกคนต้องมาถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นและหาแนวทางป้องกันหรือการที่จะหาวิธีเก็บกักน้ำเหล่านี้ให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงหน้าแล้งได้อีกด้วย โดยหลังจากนี้ตนทราบข้อมูลมาว่าภัยแล้งในพื้นที่ อ.ภูซางนั้นก็ได้มีปัญหาตั้งแต่เริ่มเข้าฤดูหนาวด้วย ฉะนั้นตนก็จะได้เตรียมทีมสำรวจแหล่งน้ำและการวางแผนที่จะทำฝายชะลอน้ำตามจุดต่าง ๆ ก่อนที่ลำน้ำต่างจะแห้งลงและชาวบ้านไม่สามารถนำน้ำไปใช้ได้ในช่วงหน้าแล้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตามตนจะเอาประสบการจาก จ.สุรินทร์มาปรับใช้ในพื้นที่ อ.ภูซาง ให้ชาวบ้านอย่างน้อยก็ไม่ต้องประสบปัญหาเรื่องที่ซึ่งที่นี่ถือว่าแหล่งน้ำนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการใช้ทางการเกษตรอีกด้วย