จากกรณีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีการประเมินพบว่า ปัจจุบันธุรกิจสมุนไพรเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อยของไทยในการเข้าทำธุรกิจ โดยสามารถเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ผู้เล่นในตลาดอุตสาหกรรม โดยหยิบยกมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกปี 2565  มีมูลค่าสูงถึง 1.99 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าปี 2576 มูลค่าจะอยู่ที่ 4.17 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือว่าตลาดเติบโตทุกปี และเป็นตลาดใหญ่ และมีการแข่งขันกันสูง

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงการผลักดันสมุนไพรไทยเพื่อสุขภาพว่า อภัยภูเบศรไม่เคยมองใครเป็นคู่แข่ง แต่อยากให้เมืองไทยมีผู้ประกอบการสมุนไพรมาก ๆ เพื่อตลาดสมุนไพรจะได้เติบโต ข้อดีของประเทศไทยคือ มีความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาสูงมาก หากสามารถทำสิ่งที่มีอยู่มาสร้างประโยชน์ได้ก็ควรช่วยกัน ตนจึงไม่มองว่า มูลนิธิรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะต้องได้ส่วนแบ่งการตลาดเท่าไร แต่จะมุ่งเน้นในการทำประโยชน์ต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยดูว่า ปัญหาสุขภาพของคนในสังคมคืออะไร เราจะทำอย่างไร เพื่อให้สุขภาพของคนดีขึ้น บนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยอาศัยภูมิปัญญา ความเชี่ยวชาญ ส่วนแง่ของรายได้นั้นก็ภูมิใจที่ได้ทำธุรกิจเพื่อสังคม ได้พัฒนาธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจของชุมชน

“ด้วยความที่เราตระหนักถึงความร่ำรวยของแผ่นดิน ซึ่งก็คือภูมิปัญญาและความหลากหลายทางชีวภาพ เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือทรัพย์สินที่ต้องส่งต่อให้กับลูกหลาน คนรุ่นต่อไป ต้นไม้ 4-5 พันชนิดล้วนเป็นภูมิปัญญา ที่เราใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการเป็นยา เป็นอาหาร ยากำลัง อบ ประคบ นวด ฯลฯ แม้ในสังคมปัจจุบัน จะต้องมีงานวิจัยมากมายเพื่อความน่าเชื่อถือ ลองคิดดูว่า เราต้องใช้สัตว์ทดลองมากมายรวมทั้งคนอีกเท่าไหร่ กว่าจะวิจัยต้นไม้ 4-5 พันชนิดออกมาเป็นยาให้คนใช้ได้ทั้งหมด ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีร่องรอยของภูมิปัญญาที่กินใช้สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์”ดร.สุภาภรณ์ กล่าว

เลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าวต่อว่า มูลนิธิรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีการศึกษาสมุนไพรจำนวนมากทั้งจากตำรา ทั้งรายงานรักษา ทั้งเอกสารที่มีการรวบรวมไว้ และศึกษาจากสมุนไพรจริงๆ เพื่อเชื่อมโยงกับภูมิปัญญา แล้วทำเป็นฐานข้อมูลสำหรับนำมาใช้เวลาที่จำเป็นได้ทันที ดังนั้นผลิตผลของอภัยภูเบศรจึงไม่ใช่ยอดเงิน แต่เป็นโมเดลที่เชื่อมโยงภูมิปัญญา กับการวิจัยสมัยใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารับผิดชอบต่อผู้บริโภคและต่อสังคม และทำมาอย่างต่อเนื่อง 40 กว่าปีที่แล้ว และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องมีการทำแบบเกษตรอินทรีย์ ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ให้ได้วัตถุดิบหรือผงยาที่ปลอดภัย เป็นธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น เราสามารถเอาผงขมิ้นไปชงน้ำดื่ม ไปใส่แกงได้ แคปซูลของเราไม่ใส่สารกันบูด เราทำในสิ่งที่เราเชื่อมั่นว่าคือสิ่งที่ดีกับผู้บริโภค

“การผลิตตรงนี้ ผ่านการตรวจฟาร์มอย่างเข้มข้นทุกปี ตรวจดิน ตรวจน้ำ เราซื้อผลผลิตของเกษตรกรอย่างเป็นธรรม เรามีภาคประชาชน ภาคสังคม ที่สนับสนุนอยู่ เราอาจจะไม่ได้โตมากมายแต่เราไม่ตายแน่นอน เพราะว่ายังมีคนดีเอ็นเอเดียวกันอยู่ในสังคม เราให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกร รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เห็นชัดเจนเลยว่า การจะทำให้พื้นดินไม่มีสารเคมี ไม่มียาฆ่าแมลง เป็นสิ่งที่ยากมาก แต่เราก็พยามเฝ้าระวังโดยต้องมีมาตรการควบคุม วันนี้สิ่งที่ภูมิใจคือ เรารักษาแผ่นดินที่สะอาดให้กับพระแม่ธรณี” 

ดร.สุภาภรณ์ กล่าวด้วยว่า ไทยมีจุดแข็งมากมายจากการต่อยอดสมุนไพร ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ไปเป็นเครื่องดื่ม เป็นอาหาร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีสมุนไพรเข้าไปสอดแทรกในทุกกิจกรรม ที่ชาติอื่นไม่มี เพราะมันเป็นการสืบทอดทางดีเอ็นเอมาหลายชั่วอายุคน เป็นการวิจัยที่ยาวนาน เหล่านี้คือซอฟท์พาวเวอร์ที่เป็นสมบัติของชาติ และมันคือความร่ำรวยของแผ่นดินที่เราควรนำเสนอต่อนานาชาติ