เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สส.เลย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด (ปปง.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าคดีดิไอคอนกรุ๊ป ว่า ตอนนี้มีผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้เสียหายชัดเจน เบื้องต้นจากที่เห็นข้อมูลต่างๆ ที่เข้ามา กมธ. คงจะไม่นิ่งนอนใจ เนื่องจากเรื่องนี้กระทบกับจำนวนคนพอสมควร คงจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ กมธ. เพื่อเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รวมถึงอาจจะให้โอกาสผู้บริหารของดิไอคอนกรุ๊ป ได้มาชี้แจงด้วย

“ถ้าเราดูในโมเดลธุรกิจ อาจจะมองเหมือนว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ แต่ในข้อเท็จจริงเขาก็มีสินค้า มีการจำหน่ายจริง เพราะฉะนั้นอาจจะยังไม่ใช่ความผิดเรื่องแชร์ลูกโซ่ แต่เราก็จะมองในมุมของการฉ้อโกง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ผู้มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์หรือผู้บริหาร แล้วหลอกลวงประชาชน ให้สำคัญในข้อเท็จจริงใดไปผิดหรือไม่” นายเลิศศักดิ์ กล่าว

นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า ถ้าเข้าข่ายก็จะเป็นฐานความผิดฉ้อโกง อยู่ใน พ.ร.บ.ปปง. ก็จะเป็นข้อที่ใช้ดำเนินการ ต้องมีการอายัดทรัพย์สิน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชัดเจนคือ ปปง. โดยในเบื้องต้นวันพุธหน้า วันที่ 16 ต.ค. กมธ. จะพิจารณาตามพื้นฐานข้อมูลเท่าที่มีก่อน และอาจจะมีการออกหนังสือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริหารดิไอคอนในสัปดาห์ถัดไป

เมื่อถามว่าตัวอย่างของการหลอกลวงในกรณีนี้ มีอะไรบ้าง นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ในโมเดลธุรกิจของเขาก็ดูสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นแชร์ลูกโซ่ แต่หากเราไปดูในข้อเท็จจริง เขาก็มีสินค้า มีโกดังเก็บสินค้าจริง เพียงแต่รูปแบบของการจ่ายเงินก่อนแล้วได้สินค้า ถ้ามีการส่งสินค้าจริงถูกต้อง มันก็ไม่มีอะไรที่เป็นความผิดได้ แต่ต้องดูว่าการเอาบุคคลที่มีชื่อเสียงมาโฆษณาเกินจริงหรือไม่ ทำให้บุคคลทั่วไปหลงเชื่อ รวมถึงสินค้ามีคุณภาพจริงหรือไม่ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อถามว่าตอนนี้คนเชื่อไปด้วยว่าเหล่าดารา เป็นคนทำกิจการเอง เป็นบอสเอง หากพบว่าทำให้คนหลงเชื่อและคิดแบบนั้นจริง ตัวดาราเองก็มีความผิดใช่หรือไม่ นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า แน่นอน จะอ้างว่าไม่รู้ เป็นแค่พรีเซ็นเตอร์อย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเป็นพรีเซ็นเตอร์อย่างเดียวก็ต้องไปดูเจตนาอีกว่ารู้ข้อเท็จจริงในสินค้าที่ตัวเองเป็นพรีเซ็นเตอร์หรือไม่ เพราะดาราถือเป็นบุคคลสาธารณะที่มีคนสนใจ คนอาจจะมีความเชื่อถือ จึงต้องตรวจสอบว่ามีการใช้จริงหรือไม่ เพราะมีการนำเสนอ ก็เป็นการหลอกลวงประชาชนได้เหมือนกัน

“ก็เข้าข่าย เพียงแต่ว่าทั้งหมดทั้งมวลมันคงต้องลงรายละเอียดว่าตรงไหนมันเข้าข่ายของการผิดกฎหมาย และผิดกฎหมายอะไร เกี่ยวข้องกับเรื่องฉ้อโกงหรือไม่แชร์ลูกโซ่หรือไม่ ถ้ามีเรื่องของการฉ้อโกงและแชร์ลูกโซ่ แน่นอนว่าก็จะเป็นมูลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ปปง.อยู่แล้ว ซึ่งสามารถอายัดทรัพย์ได้ เพื่อบรรเทาไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพี่น้องประชาชนมากไปกว่านี้” นายเลิศศักดิ์ กล่าว.