เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่รัฐสภา นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว.กลุ่มท่องเที่ยว ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่สภา ไม่เห็นชอบต่อการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่วุฒิสภาแก้ไขให้ใช้หลักเกณฑ์ผ่านประชามติในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น ทำให้ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา ว่าในรายละเอียดดังกล่าวไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุมวิปวุฒิสภา เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้คาดว่าในสัปดาห์หน้าอาจจะมีการเสนอรายละเอียด หลังจากที่สภาได้ส่งเรื่องดังกล่าวมาให้วุฒิสภาแล้ว อย่างไรก็ดี ในการประชุมวุฒิสภาสัปดาห์หน้า นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้มีหนังสืองดการประชุม วันที่ 14-15 ต.ค. ดังนั้นหากเรื่องดังกล่าวจะเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา คาดว่าจะเป็นสัปดาห์ถัดไป

นายพิสิษฐ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับหลักเกณฑ์การเลือกตัวแทนของ สว. เข้าไปเป็น กมธ. ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ นั้น เบื้องต้นต้องให้ สว. ร่วมกันพิจารณาและลงมติเลือก

เมื่อถามว่าจะเสนอตนเองให้ไปเป็น กมธ.ร่วมหรือไม่ ฐานะผู้ที่เสนอให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า แล้วแต่สมาชิกจะพิจารณา

เมื่อถามว่าในการอภิปรายของ สส. พบข้อโต้แย้งหลายประเด็นเกี่ยวกับเกณฑ์ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น หากเข้าสู่ กมธ.ร่วม จะสู้ได้หรือไม่ นายพิสิษฐ์ ​กล่าวว่า ตนได้ติดตามการอภิปรายของ สส. อยู่บ้าง ทั้งนี้เมื่อต้องไปสู้กันใน กมธ.ร่วม ไม่มั่นใจว่าจะชนะ แต่ต้องทำเต็มที่ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาสำคัญของประเทศและบังคับใช้กับประชาชนทั้งประเทศ ต้องคงหลักการเสียงข้างมากไว้ 

เมื่อถามว่าในการอภิปรายของสภา พบว่ามี สส.ของพรรคภูมิใจไทย เสนอลดเกณฑ์ผ่านประชามติด้วยเกณฑ์ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 พอรับได้หรือไม่ นายพิสิษฐ์​ กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียด ทั้งนี้ใน กมธ.ร่วมกันต้องหารือในรายละเอียด เบื้องต้นไม่ทราบว่าเงื่อนไขอย่างไร และตนไม่รู้ว่าจะได้ไปร่วมเป็น กมธ. หรือไม่

เมื่อถามว่าการแก้ พ.ร.บ.ประชามติ จำเป็นต้องเร่งทำหรือไม่ นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ไม่ต้องจำเป็นต้องเร่ง เนื่องจาก พ.ร.บ.ประชามติ 2564 สามารถใช้บังคับได้ ดังนั้นหากต้องการให้ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญสามารถนำกฎหมายปัจจุบันใช้ได้ทันที ส่วนที่ฝ่ายสภาบอกว่าหากไม่แก้จะเป็นอุปสรรคให้การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ตนมองว่าฟังไม่ขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่กระทบกับประชาชน ดังนั้นเมื่อการแก้รัฐธรรมนูญเป็นผลดีกับประชาชน และประชาชนได้ประโยชน์ เชื่อว่าประชาชนจะมาลงคะแนนเกินกึ่งหนึ่งแน่นอน อีกทั้งตนมองว่าเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ไม่ได้ยากเกินไป เพราะหากคำนวณดูแล้วจะใช้อัตราแค่ 25% ของผู้มีสิทธิเท่านั้น เช่น หากมีประชาชนที่มีสิทธิ 50 ล้านคน กึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ คือ 25 ล้านคน แต่เสียงผ่านประชามติ ใช้ 12.5 ล้านคนบวก 1 เท่านั้น ถือว่าไม่ยากเกินไป.