เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมมอบโอวาทแก่แรงงานไทย 364 คน ที่เข้ารับการอบรมก่อนเดินทางไปทำงานไต้หวัน อิสราเอล และญี่ปุ่น โดยมีนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม  

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา เพื่อส่งเสริมให้แรงงานไทย มีรายได้มั่นคง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ได้นำความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน กลับมาพัฒนาตนเอง ครอบครัว หรือคนในชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทยได้มีความรู้เข้าใจขั้นตอนการไปทำงานในต่างประเทศและปฏิบัติได้ถูกต้อง ทราบเงื่อนไขตามสัญญาจ้างงาน สภาพการจ้าง และขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี มีความพร้อมในการทำงานและเกิดความมั่นใจ รวมทั้งรู้ช่องทางขอความช่วยเหลือ ทราบสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครองคนหางานตามกฎหมาย และขอให้แรงงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน เก็บเงิน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอภบายมุข การพนัน สิ่งผิดกฎหมาย

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า วันนี้มีแรงงานไทยเข้ารับการอบรม 364 คน เพื่อเตรียมเดินทางไปทำงานไต้หวัน 321 คน ในตำแหน่งคนงานกึ่งฝีมือ พนักงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และพนักงานผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ ไปที่ญี่ปุ่น  4 คน ในตำแหน่งพนักงานบริบาล และไปทำงานที่อิสราเอล 39 คน ในตำแหน่งช่างไม้ ช่างปูน และช่างปูกระเบื้อง ทั้งนี้กรณีการส่งแรงงานไปทำงานที่อิสราเอลนั้น ได้ประสานรัฐบาลอิสราเอล ประสานไปยังเอกอัคราชทูตแห่งประเทศไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ และประสานทูตแรงงานของไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ ในการช่วยดูแลและทำงานในพื้นที่ปลอดภัย โดยเราส่งไปทำงานในพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศ ซึ่งไม่ได้มีปัญหาการสู้รบ ส่วนการสู้รบนั้นจะเกิดบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม หากมีความสุ่มเสี่ยง ทางกระทรวงแรงงานเราก็จะไม่จัดส่งแรงงานไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานที่อิสราเอลจำนวนเท่าไหร่ และทั้งหมดทำอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยใช่หรือไม่ สมัยที่เราอพยพแรงงานกลับไทยครั้งที่แล้ว ตอนนั้นเรามีแรงงานทำงานที่อิสราเอลประมาณ 3 หมื่นคน อพยพกลับมาที่ไทยประมาณ 9 พันกว่าคน ซึ่งกลุ่มนี้ตนเชื่อว่า เดินทางกลับไปทำงานที่อิสราเอลเกือบจะเป็นจำนวนเท่าๆ เดิม เพราะฉะนั้นตอนนี้มีแรงงานไทยที่อยู่อิสราเอลประมาณสองหมื่นกว่าเกือบสามหมื่นคน โดยเกือบ 100% ทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้แรงงานติดตามข่าวสาร คำเตือนของทางการ และขอให้ปฏิบัติตามที่มีการซักซ้อมอยู่ในที่ปลอดภัย หากเจอความเสี่ยงที่ไม่ปกติ ขอให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัย อย่าเพิ่งยกมือถือมาถ่ายคลิป

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้เมื่อเหตุการณ์สงบ กรมการจัดหางานได้เจรจา และจะได้รับการจัดสรรแรงงานไทยเพิ่มขึ้นในภาคเกษตรประมาณ 1-1.5 หมื่นคน ส่วนอุตสาหกรรมประมาณหมื่นคน ส่วนการก่อสร้างเขาขอมาราวๆ 2-2.5 หมื่นคน เท่ากับว่า หากเหตุการณ์สงบ น่าจะส่งเพิ่มได้อีกราวๆ 5 หมื่นคน และยังมีเป้าหมายเจาะการส่งแรงงานไปอีกหลายประเทศ

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการเดินทางไปทำงานต่างประเทศครั้งนี้ โดยบริษัทจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง อย่างไรก็ตาม การจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศจะมีหลายช่องทาง ส่วนใหญ่จะเป็นการจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี กรณีนี้แรงงานไม่จำเป็นต้องจ่ายเบี้ยรายทาง แต่จะมีค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าเครื่องบิน หรือซื้อประกัน เช่นที่อิสราเอลมีให้มีการซื้อประกันระยะเวลา 3-5 ปี จากทางการอิสราเอล ส่วนประเทศอื่นๆ ก็มีเงื่อนไขแตกต่างกัน สำหรับกรณีที่มีการระบุว่า แรงานต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อไปทำงานต่างประเทศนั้น แน่นอนว่า โดยหลักการทางธนาคารจะให้กู้รายละไม่เกิน 1.5 แสนบาท เผื่อว่าจะซื้อยา ซื้อของใช้ส่วนตัวไปใช้ รวมถึงอาจจะกันนั้นส่วนหนึ่งให้กับทางครอบครัว เป็นต้น

ด้านนายสมชาย กล่าวว่า ในปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ทั่วโลกใน 134 ประเทศ จำนวน 144,617 คน โดย 5 อันดับแรกที่คนไทยไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น อิสราเอล และมาเลเซีย ตามลำดับ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ต.ค. 2566-ก.ย. 2567) จัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศ 55,456 คน ประมาณการรายได้เฉพาะปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่คนหางานในต่างประเทศส่งกลับประเทศไทยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย รวม 270,229 ล้านบาท สำหรับผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารการประกาศรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694